"ทริส"คงเครดิต KGI ที่ BBB/Stable สะท้อนทุนแข็งแกร่ง-สภาพคล่องเพียงพอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 6, 2007 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ KGI คงเดิมที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
อันดับเครดิตสะท้อนฐานทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท รวมทั้งยังสะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางซึ่งน่าจะเกื้อหนุนการสร้างรายได้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งจากสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคาดว่ายังคงมีความผันผวนในระดับสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทอยู่บนสมมติฐานที่สภาวะตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในระยะปานกลางแม้จะคาดว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม ทั้งนี้ อันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทอยู่บนสมมติฐานที่บริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ต่อไป และยังคงมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่สม่ำเสมอจาก บลจ. วรรณ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ตลอดจนการขยายธุรกิจได้โดยไม่ทำให้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ด้วยมูลค่าของสินทรัพย์รวมที่ 6,343 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 ทำให้ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีฐานะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ในประเทศซึ่งให้บริการครอบคลุมทั้งธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ตลอดจนธุรกิจการค้าและการลงทุนในหลักทรัพย์ ภายหลังจากการขายหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนในต่างประเทศไปในช่วงปี 2543-2546 บริษัทได้คืนทุนบางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นในปี 2546 และเน้นการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ภายในประเทศมากขึ้น ในด้านธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเหลือ 3.7% ในปี 2548 จาก 4.5% ในปี 2547 และ 5.2% ในปี 2546 โดยลดลงมาอยู่ที่อันดับ 8 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 41 แห่งเนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามามากขึ้น (39 รายในปี 2547 และ 41 รายในปี 2548) และมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนสถาบันมากขึ้น ซึ่งในส่วนของนักลงทุนสถาบันนั้นบริษัทยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.94% ณ สิ้นปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นของพอร์ตของบริษัท ในปี 2549 บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาล่วงหน้าใน บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 16.5% รายได้จากธุรกิจดังกล่าวยังมีไม่มาก แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดในอนาคตและปริมาณการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาดที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางจะยังคงเกื้อหนุนให้บริษัทขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงถูกกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์
ในส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมนั้น แม้ว่าบริษัทได้มีการขยายงานด้านวาณิชธนกิจมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากพอจากธุรกิจนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการรับรู้รายได้ในปริมาณที่ดีและสม่ำเสมอจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และบริษัทยังมีการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งสร้างรายได้ในรูปของกำไรจากเงินลงทุน ดอกเบี้ย และเงินปันผล นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนบางส่วนโดยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดใหม่ๆ เพื่อให้มีรายได้ในรูปของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม รวมทั้งเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประกาศผลกำไรสุทธิจำนวน 182 ล้านบาทในงวดสิ้นปี 2549 เพิ่มขึ้นจาก 159 ล้านบาทในปี 2548 โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเป็น 140 ล้านบาท จาก 79 ล้านบาทในปี 2548 จากการขยายตัวของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ลงรายการขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ที่ 42 ล้านบาทในปี 2549 เมื่อเทียบกับที่ 13 ล้านบาทในปี 2548 โดยบริษัทมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ 72.6% ในปี 2549 และ 67.6% ในปี 2548 ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 20 รายแรกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66.2% ในปี 2549 และ 59.5% ในปี 2548 ณ เดือนธันวาคม 2549 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 4,349 ล้านบาทซึ่งมากเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 4,231 ล้านบาทในปี 2548 บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2549 เท่ากับ 1.46 เท่า ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่เท่ากับ 1.45 เท่า อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีแผนในการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อใช้ในการขยายส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์และธุรกิจตราสารอนุพันธ์ รวมทั้งอาจจะออกตราสารหนี้เพื่อนำมาขยายธุรกิจในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ