นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยเช้านี้มีแนวโน้มปรับขึ้น หลังจากที่ดัชนีปรับตัวลงติดต่อกันหลายวันจากระดับสูงเดิมที่บริเวณ 1,391 จุด นับเป็นการปรับลงมาแล้ว 6 วัน ทำให้ดัชนีอาจจะรีบาวด์ทางเทคนิค
ประกอบกับตลาดหุ้นต่างประเทศก็ปรับตัวขึ้นอย่างสดใส ทั้งตลาดภูมิภาค ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดเมื่อคืนนี้ และดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้ยังคงเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ก็น่าจะช่วยหนุนการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานด้วย อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาว่าการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันจะมีความต่อเนื่องหรือไม่เนื่องจากการปรับขึ้นที่อยู่ในระดับไม่มากนัก อีกทั้งในวันนี้นักลงทุนยังรอดูการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสด้วย
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และในไทย รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งในสหรัฐและไทย ส่วนการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติติดต่อกัน 2 วันทำการนั้น ยังต้องรอดูว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ เพราะตั้งแต่ต้นปีนี้ต่างชาติยังคงมียอดขายสุทธิอยู่มาก
พร้อมให้แนวรับที่ 1,330-1,326 จุด และแนวต้านที่ 1,350 และ 1,360 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (14 ก.ค.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,642.59 จุด พุ่งขึ้น 556.79 จุด (+2.13%) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,197.52 จุด เพิ่มขึ้น 42.30 จุด (+1.34%) ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,488.58 จุด เพิ่มขึ้น 97.73 จุด (+0.94%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 230.90 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 7.46 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 410.89 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 24.98 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 25.12 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 23.57 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.77 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 ก.ค.63) 1,341.07 จุด ลดลง 1.30 จุด (-0.10%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 265.69 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (14 ก.ค.63) ปิดที่ 40.29 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (14 ก.ค.) อยู่ที่ -0.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.47/49 แข็งค่าจากวานนี้ จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ EU-สถานการณ์โควิด
- กระทรวงพลังงานกำลังติดตามสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อแผนพลังงานในด้านต่าง ๆ ว่าจะขยับหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดการใช้พลังงานทั่วโลกลดต่ำสุดในรอบ 70 ปี ทั้งปริมาณการใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศดีขึ้นทำให้ปริมาณการใช้พลังงานกลับมาเติบโต อีกครั้ง แต่สถานการณ์ในต่างประเทศยังน่าห่วง และล่าสุดในไทยมีกรณีต่างชาติที่เกิดความเสี่ยง ทำให้ภาพรวมจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจนถึงสิ้นปี หากยังไม่มีวัคซีนควบคุมโควิดก็คงไม่จบง่าย
- ธปท.หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้ที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์หลังจากสิ้นสุดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ใน 2 ปีแล้ว ซึ่งจะทำให้สินเชื่อที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีมีระยะเวลายาวขึ้นและเป็นหลักประกันความเสี่ยง จะได้ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะขยายการยื่นขอซอฟต์โลนจากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.นี้ ออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน
- ธปท.หารือกับสถาบันการเงิน ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าทองคำออนไลน์ กลุ่มตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทีเฟ็กซ์ และกระทรวงการคลัง เพื่อปรับแก้เกณฑ์ใหม่สนับสนุนให้ใช้การซื้อขายทองคำในรูปแบบของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะปัจจุบันผู้ค้าทองใช้การซื้อขายทองคำรูปแบบเงินบาทไทยเกือบทั้งหมด จึงส่งผลต่อค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา แต่การปรับแก้เกณฑ์ต้องใช้เวลาหารือสรุปกันอีกมาก เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อชาวบ้านที่ซื้อขายทองเป็นรายย่อย คาดว่าประกาศได้ในปีนี้
- ธปท.มองเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.ที่ระดับ -10% ไม่เกิน -20%) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มขยับดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และยังคงต้องติดตามความผันผวนของระบบการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลก และความผันผวนต่อค่าเงินบาทด้วยเพราะอาจส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ ราคาตราสารหนี้ และราคาหุ้นเกิดปัญหาได้
- ส.อ.ท.ระบุแม้ไทยมีความเสี่ยงการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 2 แต่ภาคเอกชนไม่ต้องการให้รัฐบาลตื่นตระหนกเกินไป จนกลับมาประกาศล็อกดาวน์ รอบ 2 สั่งปิดธุรกิจต่าง ๆ อีกครั้งเนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ได้รับผลกระทบอย่างหนักทำมาหากินลำบาก จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกำลังซื้อไม่มี ซึ่งหลาย ๆ ธุรกิจเพิ่งกลับมาเปิดกิจการค่อย ๆ กลับมาฟื้นอีกรอบ หากภาครัฐตัดสินใจเร็วประกาศล็อกดาวน์รอบ 2 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและภาคเศรษฐกิจอย่างหนักทันที แต่สิ่งสำคัญขอให้ภาครัฐเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
- กระทรวงการคลัง เผยเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ที่ดูแลโดยธนาคารกรุงไทย มีความพร้อมที่จะรองรับคนที่จะมาลงทะเบียน "เราเที่ยวด้วยกัน" ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันแรกตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. แล้ว หากมีประชาชนลงทะเบียนวันเดียวประมาณ 1 ล้านคน ระบบก็สามารถรองรับได้
*หุ้นเด่นวันนี้
- AP (ทรีนีตี้) แนะ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 6.30 บาท เนื่องจากมี Backlog จากการร่วมทุนที่แข็งแกร่ง และโครงการของ AP ยังถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะโครงการแนวราบ โดยยังคงเลือก AP เป็น Top Pick ของกลุ่ม และ AP ยังคงจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง และคาดว่าจะมี Dividend yield ที่ 7.6% ขณะที่คาดยอดโอนใน 2Q63 โดดเด่น และอาจเป็น New High เนื่องจาก Demand การโอนโครงการแนวราบที่แข็งแกร่ง และการปรับตัวในการขายอย่างรวดเร็วช่วง Lock Down ด้าน Presales ใน 2Q63 อยู่ที่ 9.04 พันล้านบาท จากโครงการแนวราบที่ 7.7 พันล้านบาท และจากคอนโดที่ 1.32 พันล้านบาท ส่งผลให้ 1H63 มียอด Presales สะสมอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 27.45% YoY และนับเป็น 45% ของเป้าหมายที่ 3.35 หมื่นล้านบาท
- TU (เคทีบีฯ) แนะ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 16 บาท โดยคาดกำไรปกติ 2Q63 ที่ 1.3 พันล้านบาท -14% YoY และ +26% QoQ แม้ยอดขายจากภาคร้านอาหารลดลงแต่ความต้องการสำรองอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น โดยการอ่อนตัว YoY มาจากการที่ลูกค้ากลุ่มร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐและในยุโรป รวมถึงไทยต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพราะโควิด-19 รวมถึงฐานที่สูงจากการบริหารต้นทุนที่ทำได้ดีใน 2Q62 ขณะที่การเพิ่มขึ้น QoQ เพราะได้ประโยชน์จากการ Lock down จากความต้องการอาหารกระป๋องแปรรูป ambient seafood เพื่อสำรองอาหารสำหรับการกักตัวและ stay home ในช่วงที่โควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น โดยคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 63 อยู่ที่ 4.75 พันล้านบาท (+24% YoY) สถานการณ์การระบาดในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดของ TU ประมาณ 40% ยังคงเป็นที่กังวลจากยอดผู้ติดเชื้อที่ยังค่อนข้างมาก ทำให้ใน 2H63 แนวโน้มความต้องการอาหารกระป๋องซึ่งมีมาร์จิ้นสูงเพื่อสำรองอาหารสำหรับการกักตัวยังคงมีอยู่มาก
- BCH (ฟินันเซีย ไซรัส) แนะ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 17.50 บาท โดยคาดกำไร 2Q63 +4% Q-Q, +3% Y-Y เป็น 270 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลเดียวที่กำไรเติบโตเพราะมีรายได้จากการตรวจเชื้อโควิด-19 ถึง 1.2 แสนราย และได้ปรับเพิ่มเงินค่าหัวประกันสังคมตั้งแต่ต้นปี ชดเชยรายได้กลุ่มเงินสดที่ลดลงได้ ขณะที่ลูกค้าคนไทยทยอยกลับเข้ามาใช้บริการ ส่วนช่วง 2H63 เป็น high season และอนาคตอาจมีรายได้จาก Alternative hospital quarantine อีกทาง ปัจจุบันมี PE 30 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มที่ 35 เท่า