ZEN รับรายได้ปี 63 ลดลง 15-20% รับผลกระทบล็อกดาวน์ แต่มั่นใจทั้งปีมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 15, 2020 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวยอมรับว่ารายได้ปี 63 จะลดลงราว 15-20% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 3,144.2 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการปิดเมือง (Lock down) ทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการร้านอาหารได้เหมือนปกติ ทำให้รายได้หายไปกว่า 400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งปี 63 จะมีกำไรสุทธิได้อย่างแน่นอน ซึ่งไตรมาส 2/63 ถือว่าเป็นช่วงที่ผลประกอบการแย่ที่สุดของปี และฉุดให้ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปีนี้ขาดทุนก็ตาม แต่บริษัทได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 4 เมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมร้านอาหาร

ขณะที่ร้านอาหารในเครือของ ZEN ทั้งหมดกว่า 10 แบรนด์ ซึ่งอยู่ทั้งในและนอกศูนย์การค้า ส่วนใหญ่มีลูกค้ากลับมาใช้บริการนั่งทานภายในร้านเฉลี่ย 80-85% และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/63 จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 90-95%

"โดยภาพรวมร้านอาหารทุกแบรนด์ของเราถือว่าฟื้นตัวได้เร็วแบบ V Shape เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นกับแบรนด์มากขึ้น สามารถเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศและใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หลังจากรัฐบาลทยอยผ่อนคลายให้ธุรกิจต่าง ๆ ทยอยเปิดบริการ และไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศอย่างต่อเนื่องหลายวัน จึงมั่นใจว่าบริษัทจะกลับมาทำผลการดำเนินงานได้ดีในครึ่งปีหลัง"นายบุญยง กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้ดิลิเวอรี่ในปี 63 นี้ จะเพิ่มเป็นประมาณ 300 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดขายรวมในปีนี้ จากปีก่อนที่มีสัดส่วนราว 5% เป็นผลจากการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางดิลิเวอรี่อย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แก่ Grab Food , LINE MAN, Get, Food Panda สั่งอาหารออนไลน์ร้านในเครือของบริษัทผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1376 Delivery และพัฒนาเมนูใหม่ภายใต้ชื่อ Chicken Z (ชิกเก้นซี) ไก่ทอดสูตรลับฉบับเซ็นที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้บริการลูกค้าสั่งซื้อแบบดิลิเวอรี่โดยเฉพาะ ปัจจุบันมี 12 สาขาที่ให้บริการแบบดิลิเวอรี่ได้

ส่วนแผนการลงทุนในปี 63 บริษัทได้มีการปรับลดการใช้เงินลงทุนลงเหลือ 100 ล้านบาทจากเดิมที่วางไว้ที่ราว 200 ล้านบาท โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการปรับร้านอาหารบางสาขาให้เป็นรูปแบบ Virtual Kitchen หรือครัวกลางที่สามารถรองรับการปรุงอาหารแบรนด์อื่นในเครือเซ็นกรุ๊ปได้ เช่น ร้านลาวญวณหรือตำมั่วบางสาขาที่สามารถปรุงอาหารแบรนด์เขียงได้ เพื่อเพิ่มยอดขายในแต่ละสาขา เป็นต้น รวมถึงเงินลงทุนบางส่วนจะนำไปใช้ในการขยายสาขาแบรนด์ร้านอาหาร AKA และ On The Table แบรนด์ละ 1 สาขา ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองการขยายสาขาร้านอาหารไทยตามสั่งแบรนด์ ‘เขียง’ เน้นโมเดลแฟรนไชส์ ซึ่งแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจาก โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นการสร้างโอกาสแก่ผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร โดยมีโอกาสคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาเปิดสาขาเขียงเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 70 แห่ง และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100 แห่ง ซึ่งจะเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่งที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย

นายบุญยง กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้มีการปรับลดอัตราการจ่ายปันผลของ 62 จากเดิมที่ 0.45 บาทต่อหุ้น เหลือ 0.20 บาทต่อหุ้นนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพและบริหารกระแสเงินสดภายในช่วงของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี 63 บริษัทยังคงมีความสนใจที่จะลงทุนควบรวมกิจการ ลงทุนพัฒนาแบรนด์ใหม่ รวมถึงการนำแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งนี้อาจต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของช่วงเวลา โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 100 ล้านบาท รองรับการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ