(เพิ่มเติม) SICT เคาะราคาขาย IPO ที่ 1.38 บาท เปิดจอง 21-23 ก.ค.เข้าเทรด 30 ก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 17, 2020 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) กำหนดราคาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 1.38 บาท มูลค่าที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 0.50 บาท เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 21-23 ก.ค. ก่อนที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) ในวันที่ 30 ก.ค.

ทั้งนี้ SICT มอบหมายให้ บล.ไอร่า เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ร่วมอีก 4 ราย ประกอบด้วย บล.เอเอสแอล บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) โดยมีสัดส่วนการเสนอขายหุ้นต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 75,000,000 หุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 4,650,000 หุ้น และ เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท 20,350,000 หุ้น

การกำหนดราคาเสนอขาย IPO ครั้งนี้พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 1.38 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 14.66 เท่า ซึ่งคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 63 มีกำไรสุทธิ 37.66 ล้านบาท เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท หลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวน 400 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.09 บาท

นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไอร่า กล่าวว่า จากที่บริษัทได้จัดโรดโชว์กับนักลงทุนรายย่อยเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ SICT ได้มีนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจแก่หุ้น Deep Tech นี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคตอีกมาก และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ New S-Curve

สำหรับราคาเสนอขายที่ 1.38 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม มี P/E ratio อยู่ที่ 14.66 เท่า ไม่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี ของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ย P/E ratio ของกลุ่มเทคโนโลยี จะอยู่ที่ประมาณ 27.36 เท่า ด้วยความเป็นหุ้น Deep Tech ที่ไม่เหมือนใคร ราคาที่เสนอขายนี้จึงมีความน่าสนใจมาก เพราะคิดเป็นส่วนลดกว่า 40%

บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้เพื่อ 1. ลงทุนในเครื่องมือ, อุปกรณ์, ซอฟต์แวร์ ด้านการออกแบบและทดสอบไมโครชิพ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร 2. ลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านออกแบบและพัฒนาวงจรรวม หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท 3. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SICT กล่าวว่า ธุรกิจด้านออกแบบ พัฒนาและจำหน่ายไมโครชิพ สำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID Animal Identification) และอีก 3 กลุ่มสินค้าของบริษัทเติบโตและมีการทำกำไรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้แต่ละปีมากกว่า 300 ล้านบาท

SICT เป็นบริษัทไทยในธุรกิจไมโครชิพที่ยืนหยัดแข่งขันในเวทีโลก ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับ RFID Animal Identification อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก มีโมเดลธุรกิจที่เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพ และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือ บริษัทจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SICT จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา

จากผลประกอบการที่มีผลกำไรอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้ บริษัทฯ สามารถวางนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ และที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยสูงกว่า 90% ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเติบโต 2 เท่าใน 4 ปีข้างหน้า จาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเลกทรอนิกส์ยานยนต์ ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล และไมโครชิพอื่นๆ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า 40%

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีรายได้รวม 95.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 15.6 ล้านบาท บริษัทมีสินทรัพย์รวม 302.1 ล้านบาท หนี้สินรวม 84.0 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 218.1 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ