บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ระบุว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของ "สินเชื่อพี่เบิ้ม" ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่ไปกับการขยายสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีในระยะยาว
เนื่องจากบริษัทมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ที่อาจส่งผลต่อการจ้างงาน ความสามารถในกาชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนั้นการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะที่ 2 ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงทั้งธุรกิจบัตรเครดิต 2% และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 3% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
จากการประเมินผลกระทบของสถานการณ์ในไตรมาสสองนี้ หากเหตุการณ์การระบาดไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาสที่สองนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว ฝ่ายจัดการเชื่อมั่นว่าจะดูแลรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อไว้ให้ได้ดีที่สุด
KTC ระบุในคำชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 2/63 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร และการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้กระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อส หรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งบริษัทก็ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.63
ต่อมา ธปท.ได้ประกาศเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 ลงวันที่ 19 มิ.ย.63 บริษัทจึงได้มีมติอนุมัตินโยบายเพิ่มเติมตามแนวทางของ ธปท. โดยมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลตามอัตราที่ ธปท.กำหนดไว้ มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.63
และดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะที่ 2 โดยการขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนการชำระค่างวดหรือเงินต้น หรือการลดค่างวด เป็นต้น โดยขยายเวลาไปเป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธ.ค.63 โดยกลุ่มลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของบริษัทในการปรับโครงสร้างหนี้ ณ 30 มิ.ย.63 มีจำนวนประมาณ 4,000 ราย มูลหนี้ราว 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้เพียง 99 ราย
"การดำเนินงานในไตรมาส 2/63 และครึ่งแรกของปี 63 ยังคงความสามารถในการหารายได้และการสร้างผลกำไร แม้ว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 63 บริษัทมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น"นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของ KTC ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 2,790 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 เท่ากับ 1,149 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ครึ่งปีเติบโต 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,247 ล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6%
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 3.8%) แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร (เพิ่มขึ้น 8.3%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต)53,242 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6% NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) เท่ากับ 932,112 บัญชี (ลดลง 7.1%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) 30,244 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%
นอกจากนี้ ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 บริษัทฯ ยังสามารถทำรายได้รวมครึ่งปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เท่ากับ 7,247 ล้านบาท และมีรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) เท่ากับ 2,152 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 7,595 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 3,430 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญ 376 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 3,016 ล้านบาท) เท่ากับ 3,392 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 773 ล้านบาท