ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น บล.เออีซี (AEC) วันนี้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5.8 พันล้านบาท จากเดิม 1.22 พันล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4.59 พันล้านหุ้น โดยจะจัดสรรจำนวน 3.06 พันล้านหุ้นเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 0.10 บาท และอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และรองรับการเข้าลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตด้วย
นายประพล มิลินทจินดา ประธานคณะกรรมการบริหาร AEC และในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยืนยันที่จะใช้สิทธิเพิ่มทุนตามสัดส่วน โดยปัจจุบันถือหุ้นใน AEC อยู่ที่ 23.56% โดยการเพิ่มทุนของบริษัทครั้งนี้คาดว่าจะได้รับเงินระดมทุนราว 300 ล้านบาทเพื่อที่จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้หลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี
นอกจากนี้ จะใช้เงินเพิ่มทุนบางส่วนในการพัฒนาด้านไอที ทั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายหุ้นผ่านระบบ Online, การยืนยันตัวตนผ่าน Online การส่งข่าวสารผ่านระบบ Online และ การติดต่อลูกค้าผ่านระบบ Online เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่
ขณะเดียวกัน หลังจากนี้บริษัทจะกลับมาเน้นการดำเนินธุรกิจในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจ (IB) เนื่องจากมองว่ามีธุรกิจจำนวนมากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องการโอกาสเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนด้านต่างๆ เข้ามาช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้
พร้อมกันนี้ บริษัทยังมองว่ามีโอกาสการเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะช่วยสร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทได้
"ส่วนตัวผมยืนยันว่าจะเพิ่มทุนตามจำนวนที่ผมได้รับจัดสรรแน่นอน เพราะผมยังเห็นโอกาสในการเติบโตของบริษัทว่าสามารถเป็นไปได้ และที่ผ่านมาเองบริษัทก็ได้มีการปรับตัวภายในมาค่อนข้างมากแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลังจากนี้เชื้อว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้"นายประพล กล่าว
นายประพล กล่าวต่อว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 นี้ และคาดว่าจะกลับมามีผลกำไรได้ในปี 64 โดยบริษัทจะเน้นการเติบโตในธุรกิจ IB ที่ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ในมือแล้ว 2-3 ราย และหลังจากนี้คาดว่าความต้องการที่ปรึกษาทางการเงินจะมีมากขึ้นอีกหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการหลายกลุ่ม
ขณะที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างการทำงานภายในใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะให้มีต้นทุนคงที่ต่ำที่สุด และได้หันมาเน้นการใช้พันธมิตรเข้ามาเป็นเครือข่ายเพื่อที่จะเป็นการกระจายงานออกไป ทดแทนการสร้างทีมขึ้นมาใหม่เพื่อลดรายจ่ายประจำด้วย
"ต้นทุนการดำเนินกิจการของเราในปัจจุบันถือว่าต่ำมาก หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาเราได้ปรับโครงสร้างการเงิน โครงสร้างบริษัทใหม่ทั้งหมด โดยการที่เราจะใช้พันธมิตรเข้ามาช่วยทำงานมากกว่าการสร้างทีมที่เป็นรายจ่ายประจำของบริษัท ขณะที่หลังจากนี้มองว่างานด้าน IB จะเข้ามาอีกมาก ซึ่งเราจะเน้นในส่วนนี้เราจึงคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นในไตรมาส 4/63 หลังจากมีเงินเพิ่มทุนเข้ามาหนุนการดำเนินกิจการ และกลับมามีกำไรได้ในปี 64 เราก็ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกจะค่อยๆ ออกมาให้เห็นมากขึ้นหลังจากนี้ด้วย"นายประพล กล่าว