เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ผลการเจรจาต่อรองกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้เพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าเดิมเกินกว่า 100% จากเดิมที่ได้เสนอผลตอบแทนมาที่ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ถึงตามที่รัฐคาดหวังตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติไว้ในระดับ 3.2 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้ดำเนินการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และให้ กทท. ร่วมกับ สกพอ. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำเสนอผลการเจรจาต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ต่อไป
ผู้อำนวยการ กทท.อธิบายว่า จากการตรวจสอบต้นทุนการดำเนินการที่แท้จริงพบว่ามีค่าใช้จ่ายจริงหรือต้นทุนต่ำกว่างบประมาณที่ ครม.อนุมัติไว้ โดยงานหลัก 4 งานในโครงการนี้มีการตั้งงบประมาณสูงกว่าต้นทุนจริง ได้แก่ งานขุดลอกถมทะเล ที่งบตั้งไว้ 25,700 ล้านบาท แต่ต้นทุนจริงมีวงเงิน 21,900 ล้านบาท ประหยัดงบได้กว่า 3 พันล้านบาท และงานสร้างถนนในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 งบลงทุน 7,200 ล้านบาท แต่ต้นทุนจริง 6,300 ล้านบาท ลดลงจากงบ 900 ล้านบาท ทั้ง 2 งานประหยัดงบไปได้กว่า 4.5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประมูลงาน
ส่วนอีก 2 งาน คือ การจัดหารถไฟขนส่งตู้สินค้าไปยังท่าเรือเฟส 3 งบตั้งไว้ 600 ล้านบาท และการจัดหาเครื่องมือกับระบบไอที งบวางไว้กว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งจะมีการประมูลงานอีก 2 ปีข้างหน้า แนวโน้มต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง
"การเจรจาต่อรองไม่ได้ตามที่ครม.คาดหวัง ก็เพราะว่าต้นทุนในการลงทุนโครงการต่ำกว่า Budget เพราะเราเอาต้นทุนที่แท้จริงมาคำนวณ...ผลตอบแทนที่ได้เจรจาแล้ว มี FIRR ได้ใกล้เคียงกับกับที่ครม.อนุมัติไว้"
ทั้งนี้ กทท. และ สกพอ. ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านผลประโยชน์ตอบแทนที่กลุ่ม GPC เสนอ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ กทท. ได้ลงทุนที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจัดทำความเห็นนำเสนอผลการเจรจาต่อ กพอ. พิจารณาต่อไป หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณโครงการนี้ใหม่หลังจากเปลี่ยนแปลงไปตามการคำนวณต้นทุนที่แท้จริง แล้วส่งเรื่องกลับมาที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือเปิดซองเทคนิค (ซอง 5) ที่จะเป็นข้อเสนออื่นของกลุ่ม GPC ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรับหรือไม่รับไว้ก็ได้ ไม่มีผลต่อการพิจารณา จากนั้นจะเสนอต่อ สกพอ.และ ครม.อีกทั้ง คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในปีนี้
อนึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จะได้รับสัญญาสัมปทาน 35 ปี โดย 2 ปีแรกเป็นช่วงของการก่อสร้างจึงไม่ต้องจ่ายผลตอบแทน โดยจะบริหารและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐระยะเวลา 33 ปี