นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงฯอยู่ระหว่างประสานนัดหมายกำหนดวันเพื่อหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานและเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณในปัจจุบัน และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. ผู้ได้รับสิทธิให้เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณรายใหม่ ภายหลังสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงในปี 65-66 เพื่อให้บรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ระหว่าง เชฟรอนฯ และ ปตท.สผ.
ทั้งนี้ หากบรรลุข้อตกลงกันแล้วก็จะให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ได้ตามแผนงานในช่วงไตรมาส 3/63 ที่จะมีกิจกรรมการติดตั้งแท่นหลุมผลิต และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าภายใน 1 เดือนข้างหน้าน่าจะมีความชัดเจนออกมา
ส่วนสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศช่วงครึ่งแรกปีนี้ ปรับลดลงเหลือกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปกติอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้พลังงานในประเทศลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ส่วนความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้ายังลดลงไม่มาก
ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่มีราคาต่ำ ก็จะสามารถนำเข้ามาเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซฯในประเทศให้ถูกลงด้วย ซึ่งปีนี้บมจ.ปตท. (PTT) มีแผนนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 11 ลำเรือ ดังนั้น ปตท.จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการการเรียกรับก๊าซฯจากแหล่งต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขสัญญารับก๊าซฯขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก (Global DCQ) กับผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย และไม่ให้เกิดภาระไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) โดยปัจจุบันการรับก๊าซฯจากอ่าวไทยเหลือราว 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปกติใช้อยู่ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เบื้องต้นประเมินว่ามีทิศทางทรงตัว แต่ก็ต้องรอติดตามการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ซึ่งหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมามากขึ้น ก็จะทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯเริ่มกลับมาด้วย