นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายผลการดำเนินงานในปีนี้จะเทิร์นอะราวด์ จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 2.25 พันล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายมีแวโน้มปรับลดลง ทั้งค่าใช้จ่ายการด้อยค่าสินทรัพย์ และค่าเสื่อมราคาของดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 7 และไทยคม 8 รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายการบริหาร
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งหน้าหารายได้เพิ่ม โดยเข้าประมูลโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดาวเทียมทั้งของภาครัฐและต่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ รวมทั้งยังจะรับงานภาครัฐในออสเตรเลียเพิ่มด้วยเช่นกัน
"เราพยายาม Turnaround จากที่ติดลบให้เป็นบวก รายได้ที่ไหลลงมาก็ทำให้เพิ่มขึ้น"นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/63 THCOM พลิกมีกำไรสุทธิ 198 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 ที่ขาดทุนสุทธิ 33 ล้านบาท เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการลดค่าใช้จ่าย
นายอนันต์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมลดลง 22% เพราะมีการแข่งขันปรับลดค่าบริการ ขณะที่ปัจจุบันอัตราการใช้งานดาวเทียมไทยคม 6, 7 และ 8 อยู่ที่ 55% ส่วนดาวเทียมไทยคม 4 มีอัตราการใช้งานเพียง 23% เพราะลูกค้ารายใหญ่ คือ SoftBank จากญี่ปุ่น ไม่ได้ต่อสัญญาเพราะต้องการทำสัญญาเช่าใช้ระยะยาว 3-5 ปี แต่ดาวเทียมไทยคม 4 จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 64
ทั้งนี้ เมื่อบริษัทส่งมอบดาวเทียมไทยคม 4 ให้ภาครัฐ คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) คาดว่ารัฐบาลจะเปิดให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งบริษัทก็พร้อมเข้าไปให้บริการแบบครบวงจร อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินการดังกล่าวยังล่าช้า แต่ก็เชื่อว่าจะทำได้ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
นอกจากนี้ บริษัทได้ศึกษาการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ หลังดาวเทียมไทยคม 5 ปลดระวาง โดยขณะนี้มีอยู่ 2-3 แนวทาง ซึ่งยังต้องพิจารณาทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่นิ่ง และเรื่องค่าใช้จ่าย เงินลงทุน รวมถึงการยิงดาวเทียมใหม่จะใช้วงโคจรของไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งบริษัทรอข้อมูลเพื่อตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตร เพื่อขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมา บริษัท และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท) ร่วมจัดตั้งบริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด โดย THCOM ถือหุ้นในสัดส่วน 75% และกสท ถือหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อร่วมกันให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม อาทิ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit Satellite) เป็นต้น เพื่อรองรับกับหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะเปิดให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย
รวมถึงร่วมกับบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จัดตั้ง บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเกษตร และนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) มาใช้เพื่อเสริมศักยภาพภาคเกษตรกรรมของไทย รวมถึงให้บริการแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรและให้บริการด้านการเกษตรแบบครบวงจร
นอกจากนี้ บริษัทกำลังเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรอีกมากในการขยายธุรกิจภายใต้ทิศทางธุรกิจ Space-Air-Ground Smart Solution