บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) ปรับลดเป้ารายได้ปี 63 ลงมาเป็นติดลบ 10-15% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตราว 3-5% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศในช่วงไตรมาส 2/63 ขณะที่คาดว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังจะยังติดลบน้อยกว่า 10% แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ความต้องการสินค้าในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นมาที่ 60-70% จากช่วงล็อกดาวน์ที่ลดลงไปเหลือ 50% หลังยอดขายทยอยฟื้นตัวมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
อนึ่ง COTTO ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/63 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,369 ล้านบาท ลดลง 15% ส่วนงวดครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขาย 4,892 ล้านบาท ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ COTTO เปิดเผยว่า รายได้ของบริษัทในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดัน ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมตลาดกระเบื้องในประเทศที่หดตัวลงแรงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้รายได้ของบริษัทปีนี้พลาดเป้าหมายตั้งไว้ในช่วงต้นปีว่าจะเติบโต 10-15% หลังจากรายได้ช่วงครึ่งปีแรกหดตัวลงราว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าภาพรวมของตลาดกระเบื้องจะทยอยฟื้นตัวกลับมา หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดขายของผู้ประกอบการในตลาดและยอดขายของบริษัทในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงแรกของการผ่อนคลายล็อกดาวน์เริ่มฟื้นตัว จากกำลังซื้อที่อั้นมาในช่วงล็อกดาวน์เกือบ 2 เดือน ทั้งกลุ่มลูกค้าครัวเรือน และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จึงกลับมาสั่งซื้อกระเบื้องเซรามิกเพื่อปรับปรุงบ้าน และการกลับมาเร่งการก่อสร้างโครงการต่างๆ จึงคาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยๆฟื้นกลับมา หากไม่มีปัจจัยกาพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองเกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม มองว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังของตลาดกระเบื้องและยอดขายของบริษัทจะยังคงหดตัวอยู่แต่คงไม่ถึง 10% เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศแม้ว่บจะค่อยๆฟื้นตัว แต่กำลังซื้อยังคงชะลอตัว และกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังชะลอเปิดโครงการใหม่ ขณะเดียวการส่งออกยังติดขัดอยู่บ้าง เพราะบางประเทศยังปิดอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่มีการกลับมาระบาดโควิด-19 รอบสอง และด่านชายแดนใน CLM ซึ่งเป็นประเทศส่งออกหลักแม้จะกลับมาเปิดด่านชายแดนแล้ว แต่การส่งสินค้ายังทำไม่ได้เต็มที่ ส่งผลให้ภาพตลาดและภาพรวมของบริษัทในระยะสั้นคงยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่ามูลค่ารวมของตลาดกระเบื้องในปี 63 จะลดลงเหลือ 2.8-3.2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ 3-3.5 หมื่นล้านบาท
"ปันี้ถือเป็นปีที่เหนือความคาดหมาย ตั้งแต่ไตรมาสแรกที่เจอกับภัยแล้ง ทำให้ชะลอการซื้อไป และยังเจอกับโควิด-19 ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/63 มาถึงปัจจุบัน ซึ่งกดดันทั้งตลาด ทำให้ปีนี้เผชิญกับความท้าทายมาก ไตรมาส 2/63 ก็คงเป็นไตรมาสที่หนักที่สุด และหากไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสองมองว่าก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น แต่อาจจะไม่เร็ว และยังไม่สามารถประเมินได้ชัดว่าจะฟื้นกลับมาแน่ๆ เมื่อไหร่ อาจจะปลายปี 64 ไปเลย เพราะต้องรอวัคซีนโควิด-19 ออกมาใช้จริง ทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติ"นายนำพล กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การขายในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเน้นไปที่ความสามารถในการเข้าถึงสินค้าได้จากหลากหลายช่องทางทั้งร้านผู้แทนจำหน่าย คลังเซรามิก และช่องทางออนไลน์ โดยบริษัทได้ร่วมมือกับร้านโมเดิร์นเทรดกระตุ้นการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งในช่วงที่หน้าร้านปิดทำการ ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 300% ด้านคลังเซรามิกมียอดขายสูงกว่าเป้าหมายทุกเดือน ขณะที่ร้านผู้แทนจำหน่ายส่วนใหญ่ยอดขายทรงตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณค่อยๆฟื้นกลับมาบ้างเล็กน้อยแล้ว
พร้อมกันนั้น บริษัทยังนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆในกลุ่ม "Health and Clean" เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการปรับแต่งพื้นที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ปลอดภัย สะอาดไร้กังวลและสร้างความอุ่นใจในการอยู่อาศัย โดยได้เร่งจำหน่ายกระเบื้อง Hygienic Tile หรือกระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย จาก COTTO ที่ใช้เทคนิคในการผสมสารซิลเวอร์นาโนในเนื้อกระเบื้อง ทำให้สามารถยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรียได้ตลอดอายุการใช้งานซึ่งแตกต่างจากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์ขณะใช้งานและจะหมดประสิทธิภาพลงอย่างรวดเร็ว
และได้ขยายพอร์ทสินค้าเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคนี้ที่ให้ความสำคัญไม่เพียงแต่ความสะอาด แต่ยังต้องคำนึงถึงความสะดวก ปลอดภัยและสวยงาม เช่น แผ่นปูพื้น LT แบบ Smart Flexible by COTTO ซึ่งเป็นวัสดุปูพื้นที่มีดีไซน์สวยงาม ติดตั้งง่าย รวดเร็วและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และล่าสุด กระเบื้องรุ่น 4D+ จาก CAMPANA และ SOSUCO ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกันลื่นเพื่อความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงที่พักอาศัย
อีกทั้งจะโปรโมทงานบริการติดตั้ง ภายใต้ชื่อ C’TIS (Certified Tile Installation Service) เพื่อให้บริการสร้างซ่อม ตกแต่ง ต่อเติม ติดตั้งกระเบื้องและวัสดุกรุผิว ด้วยทีมช่างมืออาชีพที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบัน C’TIS มีทีมช่างประมาณ 100 คนที่ให้บริการด้านสร้าง ซ่อม ตกแต่ง ต่อเติม ติดตั้งและยังคงเปิดรับสมัครทีมช่างจำนวนมากเข้ามาร่วมงาน โดยจะมีการอบรมให้ความรู้ตามมาตรฐานของ C’TIS พร้อมกับมอบหมายงานให้ทีมช่างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้ามาสร้างรายได้การบริการเข้ามาเสริม
สำหรับงบลงทุนของบริษัทยังคงไว้ที่ 350-400 ล้านบาท โดยที่ใช้ไปแล้วในครึ่งปีแรกกว่า 100 ล้านบาท และงบส่วนที่เหลือบริษัทยังคงนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังสำหรับการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรการบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน และและการขยายสาขาของบริษัท ส่วนการใช้กำลังการผลิตโรงงานของบริษัทได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% แล้ว หลังจากช่วงล็อกดาวน์ใช้กำลังการผลิตลดลงเหลือ 50% ซึ่งหากแนวโน้มตลาดกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมองว่ากำลังการผลิตจะค่อยๆกลับมาเพิ่มขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังต้องมีการควบคุมต้นทุนต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมากำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจะเติบโตขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน ซึ่งมาจากกำไรพิเศษของการขายที่ดินมูลค่า 200 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2/63 ทำให้กำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 2/63 เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่กำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกยังคงติดลบ 13% ซึ่งใกล้เคียงกับทิศทางการชะลอตัวของรายได้ และหากไม่มีรายการพิเศษเข้ามาอีกก็คาดว่ากำไรสุทธิจะชะลอตัวตามทิศทางรายได้ แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากราคาต้นทุนพลังงานที่ลดลงยังช่วยทำให้แนวโน้มกำไรในปีนี้จะไม่ชะลอตัวลงมากนัก