นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดจะแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ 1,280-1,450 จุด เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายเฉลี่ยบนค่า P/E 22 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 63 และบนค่า P/E เฉลี่ย 16.7 เท่าของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 64 เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย P/E ในช่วง 10 ปีก่อนที่อยู่ประมาณ 16 เท่า ทำให้การเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น หรือ December Rally ในช่วงปลายปีนี้อาจไม่เกิดขึ้น
ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้น คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยาวนานกว่านักลงทุนคาดไว้, ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลดลงแรงกว่าคาด ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการล็อกดาวน์ประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยจะส่งผลกระทบหนักสุดในช่วงไตรมาส 2/63 คาดว่ากำไร บจ.อาจลดลงเฉลี่ย 40% ซึ่งอาจเป็นจุดต่ำสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนปัจจัยบวกที่สนับสนุนตลาดช่วงนี้ คือ สภาพคล่องในระบบยังสูงมาก, สถานะสถาบันการเงินแข็งแกร่ง, อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ 0.50% ต่อปี และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดปีนี้ที่อยู่เฉลี่ย 2-2.2% ถือว่าสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยครบอายุ 3 ปีที่ 0.52% แต่ใกล้เคียงอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้บริษัทเอกชนเรทติ้ง A+ ที่อยู่ราว 2.4% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เม็ดเงินลงทุนยังไม่ไหลออกไปจากตลาดหุ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงนี้ คือ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง, การควบคุม ผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป, การเร่งค้นคว้าผลิตวัคซีนต้านโควิด-19
"ผลตอบแทนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) นับตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน -14.8%, -19.2% และ -22.92% ตามลำดับ โดยดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งติดลบมากสุดถึง 40% ส่วนตลาดหุ้นไต้หวันบวก 1.95% ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นเกาหลีที่ -0.2% ตามลำดับ หลังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่งมีหุ้นเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ และไอทีค่อนข้างมาก" นายชัยพร กล่าว
นายชัยพร กล่าวต่อว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจมีลักษณะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในรูป U-shaped เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ค่อนข้างสูง ดังนั้นกำไร บจ.ก็จะฟื้นตัวในรูป U-shaped เช่นกัน ขณะที่การฟื้นของตลาดหุ้นไทยอยู่ในรูปแบบตัว V-shaped
ในช่วงครึ่งหลังปี 63 จึงแนะนำลงทุน ด้วยกลยุทธ์ "Sector Rotation" หรือสลับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนเป็นรอบๆ ขึ้นให้ขาย ลงให้ซื้อ เน้นลงทุนหุ้นไทย โดยผสมระหว่าง "หุ้นเติบโต" และ "กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ปันผลสูง"
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตที่ดี คือ กลุ่มส่งออกอาหารประเภท หมู ไก่ ทูน่า, กลุ่มบรรจุหีบห่อ อย่าง CPF, TFG, SCC และกลุ่มคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ เช่น SAWAD, MTC ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลัง คือ กลุ่มร้านอาหาร, กลุ่มปิโตรเคมี, กลุ่มน้ำมันและโรงกลั่น ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า, กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มบริการ เช่น โรงพยาบาล และท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอาจฟื้นตัวได้ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 64
ในช่วงตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) แบ่งเป็น หุ้นกู้และตลาดเงิน สัดส่วน 40%, ทองคำ สัดส่วน 12%, กองทุนอสังหาริมทรัพย์, กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 7% และตลาดหุ้นไทย สัดส่วน 10% ส่วนที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ สัดส่วน 31% โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นฮ่องกง เน้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ (e-commerce), กลุ่มซอฟต์แวร์บริการ (Software-as-a-Service) และกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดโควิด-19, การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการทำงานจัดการขององค์กรทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายชัยพร กล่าวว่า ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1,360 จุด บนคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงมากกว่า 25% จากการดาวน์เกรดหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะเห็นการดาวน์เกรดดังกล่าวในช่วง 1 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามการดาวน์เกรดลงมาจะไม่ได้กระทบกับดัชนีหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากนักลงทุนน่าจะรับข่าวไปพอสมควรแล้ว
ขณะที่การฟื้นตัวของ SET Index จากนี้ไปมองว่าน่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงสิ้นปี 64 เป็นต้นไป โดยประเมินดัชนีสิ้นปี 64 ไว้ที่ 1,450-1,460 จุด ซึ่งเชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้ ตลาดฯ น่าจะฟื้นตัวกลับไปเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่ในระดับ 1,520 จุด