นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน เสวนาออนไลน์ "กำกับอย่างไร ผู้ลงทุนมั่นใจและตลาดทุนไทยแข่งขันได้" ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "Merit VS Disclosure Base : การอนุญาต กับ การเปิดเผยข้อมูล สู่จุดสมดุลที่ลงตัว" ว่า ในอนาคตระบบการอนุญาตบริษัทที่ต้องการใช้ช่องทางตลาดทุนในการระดมทุนจะพัฒนาไปเป็น Toward more disclosure คือ หน้าที่การตรวจสอบจะค่อยๆหายไป และใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยตรวจสอบแทน ซึ่งทาง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะส่งเสริมให้มีข้อมูลเพียงพอและเข้าถึงง่าย รวมถึงมีเครื่องมือต่างๆ ที่นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ได้และตรวจสอบได้เอง อาทิ ระบบ AI และ Research
ในส่วนของนักลงทุนนั้น ก.ล.ต. และ ตลท. จะมีการให้ข้อมูลให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อม โดยการมี Class Action รวมไปถึงการเข้าไปมีสวนร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อที่จะซักถามข้อสงสัยต่างๆ และมีข้อเสนอแนะต่างๆด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ออกหลักทรัพย์ก็มีส่วนสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความเสี่ยงที่ถูกต้อง ตรงจุด และตรงประเด็นให้กับผู้ลงทุน
ปัจจุบันฝ่ายกำกับของตลาดทุนทั่วโลกมีการตรวจสอบ 2 รูปแบบคือ 1.อนุญาตอย่างเดียว (Merit) คือการเข้าไปตรวจสอบว่าคุณสมบัติมีความเหมาะสมหรือไม่ หากคุณสมบัติไม่เหมาะสมก็จะไม่อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ โดยคุณสมบัติที่เข้าตรวจสอบคือ โครงสร้างทางการบริหารจัดการชัดเจนเป็นธรรมไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระบบควบคุมภายในมีความรักกลุมเพียงพอ โครงสร้างทางการเงินมาตรฐานบัญชีถูกจัดระบบอย่างถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ และมีการเปิดเผยข้อมูล
และ 2.การเปิดเผยข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ (Disclosure) โดยส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในตลาดที่มีการพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว อาทิ ประเทศสหรัฐ เนื่องจากผู้ลงทุนมีความกระตือรือร้นที่จะฟ้องร้องมาก
ขณะที่ตลาดหุ้นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ใช้รูปแบบของการผสมผสาน โดยเฉพาะการตรวจสอบที่จะใช้กับคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดย ก.ล.ต. และตลท.ต้องมีควบคุมการใช้กฎเกณฑ์ให้เหมาะสมเพื่อจะไม่ให้ภาคธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมากเกินไป
โดยหลักๆในปัจจุบันที่ยังเข้าตรวจสอบอยู่คือ โครงสร้างการบริหารและการจัดการ เนื่องจากเป็นเรื่องที่นักลงทุนเข้าตรวจสอบได้ยาก และระบบป้องกันความขัดแย้งในผลประโยชน์ เนื่องจากเรื่องนี้ผู้ลงทุนเข้าไปตรวจสอบได้ยากว่ามีรายการอะไรที่ควรกังวลบ้าง ส่วนข้อมูลที่ฝ่ายกำกับไม่ควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะเป็นส่วนที่นักลงทุนมักจะวิเคราะห์ได้ดีกว่าจึงควรให้เข้าตรวจสอบได้เอง อาทิ รูปแบบของธุรกิจ ทิศทางการเติบโตของธุรกิจ เป็นต้น
"หลักๆแล้วเราจะเข้าไปตรวจสอบสิ่งที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบเองได้ยาก และมีความซับซ้อน เป็นหลักโดยเราก็จะคอยติดตามการเปิดเผยข้อมูลที่ต้องถูกต้อง เพียงพอ และชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องอัปเดทล่าสุดด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่ทาง ก.ล.ต. และ ตลท. ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตการตรวจสอบที่มีจะลดลงและให้นะกลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น"นางสิริวิภา กล่าว
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะประธานกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ เปิดเผยว่า ในต่างประเทศจะมุ่งไปสู่การ Disclosure มากขึ้นเรื่อยๆ โดยตลาดหุ้นไทยก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากที่ช่วงก่อนหน้านี้เป็น Merit เกือบ 100% เมื่อเวลาผ่านไปผู้ที่เกี่ยวข้อง มุมมองของนักลงทุน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ รวมไปถึงที่ปรึกษาทางการเงิน มีความเข้าใจมากขึ้นก็มีพัฒนาการมาสู่ Disclosure มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การจะเป็น Disclosure ทั้งหมดนั้นคงไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากจะต้องมีบางส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องมีในการจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป อาทิ งบการเงินต้องถูกต้องตามมาตรฐานทางบัญชี ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรฐาน กฎเกณฑ์ มากำหนดเพื่อที่จะให้นักลงทุนสบายใจ และระบบควบคุมภายในต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอ โครงสร้างผู้ถือหุ้นต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นการในรูปแบบของ Merit หรือ Disclosure นักลงทุนควรที่จะมีการศึกษาข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะเข้าลงทุน เนื่องจากการที่ ก.ล.ต. อนุมัติแล้วไม่ได้หมายความว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่ดี
"จะต้องมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เข้ามาช่วยหนุนอยู่แล้วการจะเป็น Disclosure ทั้งหมดอาจจะทำให้นักลงทุนเกิดความไม่สบายใจได้ หรืออาจจะเป็น ก.ล.ต. ใช้ Merit ก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะอาจจะทำให้นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทที่ได้รับการตรวจสอบมาจาก ก.ล.ต. ต้องเป็นบริษัทที่ดีแน่ๆ จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะไม่ว่าจะเป็น Merit หรือ Disclosure การลงทุนมีความเสี่ยงซึ่งจะเขียนอยู่ในหน้าแรกของหนังสือชี้ชวนเสมอ"นายสมภพ กล่าว
นายเก่งกล้า รักเผ่าพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เป็นผู้กำหนดมาตรฐานของบริษัทที่เตรียมกระจายหุ้นให้กับผู้ลงทุนที่มีความรู้หลากหลาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมาตรฐานเพื่อที่จะให้นักลงทุนมั่นใจการลงทุนของบริษัทเหล่านั้นว่าเป็นบริษัทที่มีมาตรฐาน จึงมองว่า Merit ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรที่จะต้องมีในส่วนของ Disclosure ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ให้นักลงทุนสามารถที่จะตัดสินใจได้เอง เนื่องจากมีบางประเด็นที่ ก.ล.ต. ไม่สามารถตัดสินให้ได้ว่าสิ่งไหนถูกต้องหรือสิ่งไหนผิด แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีหน่วยงานที่ช่วยเข้ามาให้ความรู้ และสื่อสารออกมาเป็นภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจแก่ผู้ลงทุน
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของการเตรียมตัวที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ การมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เนื่องจากความเข้าใจในเรื่องของ Merit และ Disclosure ของภาคธุรกิจที่จะเข้าระดมทุนคงไม่มากเท่ากับที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินจะเป็นผู้ช่วยที่ดีในการที่จะควบคุมแนะแนวทางต่างๆ
สิ่งสำคัญต่อมา คือที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะด้านความเสี่ยง มีความเกี่ยวเนื่องกับทางกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเรื่องของคดีอาญา และความเสี่ยงหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย และอีกส่วนคือบอร์ดบริหารที่เข้มแข็งจะช่วยให้การบริหารงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ
"เนื่องจากเราเป็นธุรกิจร้านอาหาร และอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งเข้าใจค่อนข้างง่ายและอยู่ในปัจจัย 4 อยู่แล้ว การเตรียมตัวต่างๆค่อนข้างง่าย ซึ่งเราก็ได้เตรียมตัวมาก่อน 3-4 ปีล่วงหน้า โดยการจัดโครงสร้างภายในให้เรียบร้อยเพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ"นายบุญยง กล่าว