นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ในไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท
ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะทำให้คำสั่งซื้อต่าง ๆ กลับมาในเร็ววัน จากที่บริษัทซึ่งเป็นผลิตทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ แบบ OEM และ REM โดยในส่วนของ OEM อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่สำหรับ Replacement แล้ว ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
"แม้ว่าตลอดช่วงครึ่งปีแรก เราจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เนื่องจาก FPI เป็นบริษัทผู้ส่งออกอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อมีการปิดประเทศต่าง ๆ ทำให้ทางบริษัทได้รับผลกระทบพอสมควร แต่บริษัทได้พยายามปรับกลยุทธ์ในการผลิตและส่งมอบ โดยปัจจุบันในส่วนของงานผลิต ได้มีการผลิตแบบ Full capacity ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ได้ในทุกรุ่นทุกแบบ ซึ่งเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย เราจะสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าต้องพรีออร์เดอร์และรอสินค้า และเราคาดว่า ผลประกอบการจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในเร็ววัน จากมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง"นายสมพล กล่าว
นายสมพล กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีรายได้รวม 536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% สาเหตุหลักมาจากยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 32 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 47% จากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไดฮัทสุ มิตซูบิชิ และ มาสด้า BT50 โดยบริษัทขายสินค้าผ่านบริษัทในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปในประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ
ขณะที่ยอดขายต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% จากการขายให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น เนื่องจากไตรมาส 1/63 ประเทศผู้ขายหลายประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีการปิดประเทศ เช่น ประเทศจีน และ มาเลเซีย ดังนั้น ลูกค้าจึงหันมาทำการซื้อและสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ บริษัทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 4% จากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 31.62 ในไตรมาส 1/62 เป็น 30.34 ในไตรมาส 1/63 ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 10%
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/63 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากระดับ 53 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 39 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลมาจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักของจำนวน 102 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ในการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract และ Forward Option) จำนวน 67 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่สามารถคาดคะเนได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงสถานะเงินลงทุนในบริษัทย่อย FPI AUTOPARTS INDIA PRIVATE LIMITED จำนวน 22 ล้านบาท ในไตรมาส 1/63 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่บริษัทได้เข้าทำการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 55% ในราคาหุ้นละ 8.6369 อินเดียรูปี รวมถึงค่าเงินอินเดียรูปีที่อ่อนค่าลงประมาณ 17% จึงต้องทำการตีมูลค่าเงินลงทุนใหม่สำหรับหุ้นเดิมที่บริษัทถืออยู่ 45% ในราคาพาร์ 10 อินเดียรูป