DTAC เลื่อนให้บริการ 5G บนคลื่น 26 GHz ไป Q3/63 รับผลโควิด,คงแผน 5G บนคลื่น 700MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 24, 2020 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า บริษัทเลื่อนการทดสอบการให้บริการและเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น 26 GHz หรือ mmWave ไปเป็นไตรมาส 3/63 จากเดิมกำหนดไว้ในไตรมาส 2/63 เนื่องจากติดขัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไป โดยจะเริ่มใช้ในภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบการใช้งาน (use case) แรกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อาทิ กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ, บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่ในภาคอุตสาหกรรม (Fixed Wireless Access) เป็นต้น

ขณะที่การเปิดให้บริการคลื่น 5G บนคลื่น 700MHz แก่ประชาชนทั่วไปยังคงแผนเดิมในไตรมาส 4/63 โดยรอสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ใบอนุญาตคลื่น 700MHz ภายในเดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC มองว่า ตลาด 5G ที่ไปรองรับกับผู้ใช้ทั่วไป (End User) ในไทยควรรอการพัฒนา Eco system ว่ามีมากน้อยอย่างไร ดีแทคจะเปิดให้บริการ 5G เมื่อเห็นว่าให้ประโยชน์มากพอ นอกเหนือความเร็วที่สูงขึ้นยังต้องมี device ที่มากพอ ดังนั้น จะเลือกเปิด 5G ให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากที่สุด

"ในมุมมองของเรา เรามองลูกค้าเป็นหลัก เรายังให้บริการ 4G ถ้าลูกค้าต้องการไฮสปีดเน็ตเวิร์ค เราก็อัพเกรด TDD , Massive MIMO ขยายไปทั่วประเทศ...5G ไม่ได้บอกว่าไม่ทำ ถ้ามี use case ก็จะทำ"นายเมห์โรทรา กล่าว

ส่วนเงินลงทุน (Capex) ปรับปรุงและขยายโครงข่ายในปีนี้ที่ปรับลดลงมาเป็น 8,000-10,000 ล้านบาท จาก 13,000-15,000 ล้านบาท เพราะแผนการลงทุนบางส่วนเลื่อนออกไป โดยเลื่อนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์คลื่น 850 MHz เป็น 900 MHz ออกไปเป็นปลายปี 63 ถึงปี 64

ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ DTAC จะเดินหน้าลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยขยายโครงข่าย 2300 MHz ตั้งเป้าขยายสถานีฐาน บนเครือข่าย 4G-TDD จำนวน 20,000 สถานี เชื่อว่าการขยายโครงข่ายนี้ในช่วงครึ่งปีหลังจะสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่ลูกค้า รวมทั้ง เร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า และยกระดับประสบการณ์ ใช้งานทั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือและเน็ตบ้านแบบใหม่ (dtac@home)

นอกจากนี้ ยังได้จับมือ 3BB ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์รายใหญ่ ที่จะร่วมออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ด้านนายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร DTAC กล่าวว่า 5G น่าจะไปอยู่ภาคอุตสาหกรรม และส่วนธุรกิจ (B2B) ส่วนลูกค้าต้องการอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้นซึ่งเราก็มี TDD และ Massive MIMO ทั้งนี้ มองว่า 5G ไม่ใช่เกม 2020

ดีแทคได้เจรจากับบมจ.ทีโอทีในการอัพเกรด คลื่น 2300 MHz ที่ใช้งาน 4G เป็น 5G ซึ่งทีโอทีในฐานะเป็นเจ้าของคลื่น ต้องขออนุญาตจาก กสทช.ที่จะขอทดสอบคลื่น 2300 MHz ระบบ 5G แต่คงยังไม่ใช่ Commercial User ขณะเดียวกัน ดีแทคก็เข้าไปดูเรื่องทางเทคนิคด้วย

"การใช้คลื่น 2300MHz apply จาก 4G ไป 5G TOT ต้องเป็นดำเนินการเพราะเขาเป็นเจ้าของคลื่น กสทช.จะให้ใบอนุญาต ก็คาดเดายาก"นายแอดอัคทูสเซ่น กล่าว

ด้านนายฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด DTAC กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังคาดหวังจะรักษาฐานลูกค้าไว้โดยเฉพาะลูกค้าคนไทย โดยสิ้นไตรมาส 2/63 มีจำนวนลูกค้า 18.8 ล้านราย โดยจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิลดลงจำนวน 8.35 แสนราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63

สำหรับจำนวนลูกค้าที่ลดลงไปเพราะนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวหายไปในช่วงเกิดการระบาดโควิดตั้งแต่ต้นปี

อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีปริมาณการใช้งานดาต้าของลูกค้าดีแทคสูงขึ้น เฉลี่ยในแต่ละเดือนเติบโต 44% (ม.ค.-มิ.ย.) และมีปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ภูมิภาคเติบโตสูงกว่ากรุงเทพ 5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ