FSSIA มองกลุ่มแบงก์ฉุด SET ช่วง Q3/63 ลงในกรอบจำกัด ก่อนดีดฟื้นใน Q4/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 29, 2020 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวัฒน์ สินสาฎก, CFA,FRM,ERP กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) บริษัทย่อยของ บล. ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) เปิดเผยว่า ทาง FSSIA ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/63 นี้ว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นตัวฉุด SET Index ทำให้เคลื่อนไหวไม่เกินระดับ 1,400-1,450 จุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ กดดันให้ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 ปรับตัวลดลง

"หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์นับว่ารับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด เพราะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ นับเป็นตัวแทนของความเสียหายจากวิกฤตการณ์รอบนี้ และมีหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว สายการบิน ร่วมกดดันดัชนีด้วย ส่งผลให้ SET Indexในไตรมาส 3/63 ปรับตัวในกรอบจำกัดคาดว่าไม่เกิน 1,450 จุด แต่เชื่อว่ากรณีเลวร้ายที่สุดไม่น่าจะปรับตัวต่ำกว่าระดับ 1,200 จุด เนื่องจากมีหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี คอยประคองดัชนี" นายสุวัฒน์ กล่าว

ในวิกฤตหนี้เสียรอบนี้ประเมินว่ากลุ่มลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายบุคคลจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการล็อกดาวน์ประเทศส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ต้องหยุดดำเนินการ การค้าขายหยุดชะงัก และเป็นเหตุผลหลักทำให้หนี้เสียทั้งระบบจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% จะพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุด 7% ในช่วงปลายปี 64

แต่นับว่าไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งในขณะนั้นหนี้เสียทั้งระบบขึ้นไปสูงสุดถึง 45% และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อยู่ที่ระดับ 5.3% ขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ(Coverage Ratio) ในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 26% และ 72% ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันสูงถึง 117% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และมีแนวโน้มว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยเพิ่มการตั้งสำรองเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรับมือกับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นได้

กรรมการผู้จัดการ FSSIA กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่า SET Index จะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/63 มีโอกาสเห็นระดับ 1,550 จุด เนื่องจากประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับสถานการณ์ ส่งผลให้การดำรงชีวิตใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก่อให้เกิดความต้องการบริโภค ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนต่อมูลค่าตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)ในสัดส่วนที่สูง รวมแล้วเกือบ 20%

โดยหุ้นที่มีความน่าสนใจลงทุนอย่างโดดเด่น คือ หุ้นบมจ. เอสโซ่(ประเทศไทย) (ESSO) และหุ้นบมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG)รวมไปถึงความน่าสนใจลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์จะกลับมา โดยเฉพาะธนาคารที่มีการตั้งสำรองในอัตราที่สูงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว อย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

ขณะเดียวกันประเด็นการลงทุนหุ้นคู่แม่และลูก จะกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี อาทิ แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของบมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) บริษัทลูกของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บริษัทลูกของ บมจ. ปตท. (PTT) คาดว่าจะก่อให้เกิดความคาดหวังการลงทุนในหุ้นแม่เช่นเดียวกับกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของบมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ประสบความสำเร็จอย่างมาก พบว่าทำให้หุ้นแม่ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน หรือแม้แต่การเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าของ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง คาดว่าจะกระตุ้นการลงทุนใน บมจ.ไทยโพลีคอน (TPOLY)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ