นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากในช่วงครึ่งแรกของปีใช้เงินลงทุนไปเพียง 2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 โดยทั้งปีนี้ยังคงเป้าหมายการลงทุนที่ระดับ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาทตามแผนงานเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 50% จะเป็นการใช้เพื่อก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีที่เวียดนามที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 45%
ส่วนโอกาสและการขยายธุรกิจของเอสซีจี หลังจากนี้ยังคงมีการลงทุนที่มีเป้าหมายชัดเจนตามแผน เช่น การลงในธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการ และยังคงมีการเลือกลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ด้วยความระมัดระวัง
"ปลายไตรมาส 2 เรามีเงินสด 8.8 หมื่นล้านบาท ยังถือว่าสูง ส่วนหนึ่งเพราะช่วงครึ่งปีแรกมี Capex 2.2 หมื่นล้านบบาท เราแตะแบรกพอสมคร ครึ่งปีหลังก็จะมีเงินลงทุนมากขึ้น Cash ยังค่อนข้างสูง เนื่องจากเราเตรียมรับ Full Impact ในช่วงผ่านมา แต่คิดว่ากำลังบริหารจัดการอยู่ ซึ่งในแง่หุ้นกู้ที่จะครบอายุปลายปี ก็มีแผนจะออกทดแทน"นายธรรมศักดิ์ กล่าว
นายธรรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เอสซีจียังศึกษาเรื่องการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เนื่องจากเอสซีจีมีเป้าหมายที่จะช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ SCC กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้นับว่ายังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดและคงมีผลกระทบต่อเนื่อง แม้ในไทยจะสามารถบริหารจัดการได้ดี แต่ประเทศอื่นๆ ยังคงต้องเฝ้าระวัง
โดยในส่วนของธุรกิจวัสดุก่อสร้างแม้มีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะโครงการภาครัฐที่น่าจะยังคงมีความต่อเนื่อง ส่วนตลาดซีเมนต์ที่หดตัวราว 1% ในช่วงครึ่งปีแรก ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีความท้าทายสูง โดยตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มค่อนข้างเหนื่อยและอาจมีข้อจำกัดในบางตลาด ส่วนตลาดเพื่อการพาณิชย์อาจยังไม่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านตลาดภาครัฐน่าจะยังมีความต่อเนื่องจากการซ่อมแซมสาธารณูปโภค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง
สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ผันผวนและท้าทาย ยังต้องติดตามใน 2 ประเด็นหลักคือด้านต้นทุนสินค้า และความต้องการของตลาด ซึ่งธุรกิจนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก อย่างไรก็ตามเอสซีจียังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มีสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในช่วงตลาดฟื้นตัวให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด
ขณะที่ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง มองว่าการอุปโภคบริโภคที่ยังมีแนวโน้มไปได้ดี แต่ยังมีความกังวลด้านการส่งออก ส่วนความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ล่าสุดคำขอได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ภายนอกต่าง ๆ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจ ภาวะตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำที่อาจจะขาดแคลนทำให้เป็นปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันบูรณาการในระยะยาว ส่วนเป้าหมายยอดขายปีนี้ที่เดิมเคยคาดการณ์ว่าอาจจะหดตัวมากกว่า 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วนั้น ขณะนี้บริษัทไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของเป้าหมายเป็นสำคัญ แต่เน้นวิธีการที่จะรับมือความเสี่ยงจากผลกระทบ และตั้งทิศทางการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ
"เศรษฐกิจไทยมี segment ใหญ่ในเรื่องการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวเนื่อง โอกาสที่เราจะเปิดการท่องเที่ยวใหม่ได้คงต้องใช้เวลา เพราะรอบตัวเรายังมีปัญหาและตลาดยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่สอง สถานการณ์นี้ยังอยู่กับเราไปสักพัก หรือปีหนึ่งประมาณนั้น หรืออาจจะนานกว่านั้น เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือประชาชนจะต้องพยายามปรับตัวรับกับสถานการณ์แบบนี้ และยอมรับสถานการณ์ตรงนี้อยู่กับมันไปอย่างน้อยเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เอสซีจี ได้ดำเนินธุรกิจให้มีโฟกัสมากยิ่งขึ้นทั้งการเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Prepare for the Worst) เช่น การเตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้า หากมีการปิดเมือง การวางแผนสำหรับโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้ทุกเมื่อ (Plan for The Best) เช่น การปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ (Digital Transformation) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุด (Optimization Model)
ขณะเดียวกันก็ได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตลาดทั้งธุรกิจ e-commerce การสั่งอาหารออนไลน์ และพฤติกรรมบริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมโซลูชัน สินค้าและบริการ ที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค และโอกาสทางการตลาดได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาส 2/63 และครึ่งแรกของปี 63 ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
โดยธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง มีแผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Management) โดยได้มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งในประเทศไทย และอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานร่วมกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้คงความน่าเชื่อถือ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบและการจัดการด้านโลจิสติกส์ พร้อมบังคับใช้มาตรการรักษาสุขอนามัยที่เข้มงวด เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร
ธุรกิจเคมิคอลส์ ได้เร่งดำเนินการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง (Business Continuity Management) เพื่อให้สามารถเดินหน้าการผลิตอย่างเต็มที่ และสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ปรับตัวด้วยการมุ่งนำเสนอสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร และพัฒนาช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-channel ที่เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.COM กับเครือข่ายร้านค้าของ SCG HOME ทั่วประเทศ ทั้งนำเสนอแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเจ้าของบ้าน รวมถึงยังให้บริการโซลูชันงานโครงสร้างกับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ CPAC Smart Structure ด้วยการใช้สินค้าและนวัตกรรมการก่อสร้างที่ดีที่สุด