"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (3-7 ส.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในรอบเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา SET INDEX ลดลง 0.80% จากเดือนก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มขนส่ง ลดลง 11.3% รองลงมาคือกลุ่มธนาคาร ลดลง 7.8% และสุดท้ายคือกลุ่มมีเดีย ลดลง 7.6% ขณะที่กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเดือน ก.ค. ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นถึง 68.3% รองลงมาคือกลุ่มของใช้ส่วนบุคคลและเวชภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 29.8% และสุดท้ายคือกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 15.5%
แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. จะยังมีความเสี่ยงของการปรับฐานอยู่บ้าง หลังจากนักลงทุนแสดงออกถึงความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นผลพวงจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของหลายประเทศสำคัญ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ที่พบว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ (GDP) ในไตรมาส 2/63 หดตัวหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในไทยก็มีหลายหน่วยงานออกมาพยากรณ์ตัวเลข GDP ทั้งปี 2563 มีโอกาสติดลบหนักเช่นกัน
ซึ่งตามรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. พบว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมกันทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 18 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตรวมกันเกือบ 7 แสนราย
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันภาพของเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย กลับกลายเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะถัดไป
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ประเมินภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. ที่แม้ว่าจะแกว่งตัวผันผวนและปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่เป็นภาวะปกติของการปรับฐานในระยะสั้น ที่ในภาพใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเป็นภาวะตลาดขาขึ้น หรือที่นิยามกันว่า "ตลาดกระทิง" เนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการและกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นในรอบใหม่ ดังนั้นกลยุทธ์การเลือกหุ้นควรเน้นไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตไปพร้อมกับวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น และหากตลาดปรับฐานลงมาแถวบริเวณ 1,300 จุด ก็เป็นโอกาสเหมาะสมที่จะทยอยสะสมหุ้นเข้าในพอร์ตได้เช่นกัน
"แม้ว่าในช่วงนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนและปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่เป็นภาวะปกติของการปรับฐานระยะสั้น ที่ในภาพใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเป็นภาวะตลาดกระทิง หรือตลาดขาขึ้น จากจุดเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ข้อสังเกตของตลาดกระทิงคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวอย่างหนักจนถึงขั้นถดถอย เป็นสิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังผ่านพ้นจุดที่ต่ำและสิ้นสุดวัฏจักรขาลงก่อนจะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในระยะถัดไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในปลายวัฏจักรขาขึ้น สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่ม Defensive ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นดีกว่าตลาด เช่น สื่อสารโทรคมนาคม ,โรงไฟฟ้า ,สาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับภาวะตลาดช่วงนี้ที่หุ้นกลุ่ม Defensive ก็ปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด ขณะที่หุ้นที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับเด้งขึ้นอย่างโดดเด่นและรวดเร็ว เป็นสิ่งพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าภาวะตลาดหุ้นไทยเวลานี้คือยังอยู่ในภาวะตลาดกระทิง ดังนั้น การปรับฐานในช่วงนี้อาจเป็นเพียงการรอดูผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นรายตัวว่าต้องทบทวนลดประมาณการกำไรหรือไม่ ทำให้พฤติกรรมของนักลงทุนเป็นลักษณะขายทำกำไรและค่อยมาทยอยรับซื้ออีกครั้ง เพราะส่วนหนึ่งนักลงทุนรับรู้กับปัจจัยการปรับลดกำไรของตลาดรอบนี้ไปบ้างแล้วจึงมีผลกระทบต่อบรรยากาศลงทุนไม่มากนัก เป็นโอกาสเข้าซื้อสะสมหุ้นที่อิงกับกระแสวัฏจักรเศรษฐกิจที่กำลังเป็นขาขึ้นรอบใหม่"นายวิกิจ กล่าว
ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามคือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะมีผลโดยตรงต่อความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นฟันเฟืองสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงหลังจากนี้ไป ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 มองว่ารัฐบาลคงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปหรือไม่
"คิดว่าช่วงสั้นดาวน์ไซด์ตลาดหุ้นไทยน่าจะจำกัดไม่หลุด 1,300 จุด หรือแม้ว่าอาจจะหลุดไปบ้างบางครั้ง แต่นักลงทุนก็ไม่ต้องไปกังวล หากตลาดย่อลงมาก็เป็นโอกาสสะสมแล้วกัน ส่วนอัพไซด์ช่วงสั้นอาจแกว่งตัวขึ้นไปแถวกรอบบน 1,350 จุด แต่ก็คิดว่าผ่านได้ไม่ยากหากบรรยากาศกลับมาเป็นบวกและมีปัจจัยบวกใหม่มาสนับสนุนอีกครั้ง"นายวิกิจ กล่าว
มาที่ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ประเมินภาพรวมดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,350 และ 1,365 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ,ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. ของไทย การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของบริษัทจดทะเบียนฯ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนก.ค. ของจีนและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน รวมถึงยอดส่งออกเดือนก.ค.ของจีน
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทขยับแข็งค่าผ่านแนว 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เงินดอลลาร์ฯมีปัจจัยลบจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/63 ของสหรัฐฯ ซึ่งหดตัวลงลึกสุดในรอบกว่า 70 ปี ในวันศุกร์ (31 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.18 เทียบกับระดับ 31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.ค.)
https://youtu.be/fA4vO1txA-k