หุ้น THAI ราคาชนซีลลิ่ง 14.97% มาอยู่ที่ 3.38 บาท เพิ่มขึ้น 0.44 บาท มูลค่าซื้อขาย 39.75 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.27 น. โดยเปิดตลาดที่ 2.98 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 3.38 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 2.96 บาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) คาดว่าเจ้าหนี้ทั้งต่างประเทศและในประเทศส่วนใหญ่ราว 70-80% ของจำนวนรายเจ้าหนี้ จะเห็นด้วยกับการที่บริษัทจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย THAI กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันศุกร์ว่า จากที่ THAI ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางด้วยมูลหนี้ 2.44 แสนล้านบาท เท่าที่ได้เจรจากับเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนบริษัทในการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ โดยคาดว่าศาลจะมีคำสั่งให้บริษัททำแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงปลายเดือน ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.63 และน่าจะจัดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูฯได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.64
จากนั้นก็คาดว่าปลายเดือน เม.ย. -ต้นเดือน พ.ค.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน และในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จใน 5 ปี และต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้งรวมแล้วไม่เกิน 7 ปี
"การบินไทยยื่นขอฟื้นฟู 27 พ.ค. และ 17 ส.ค.เป็นวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการ ในขณะนี้ยังไม่เจออุปสรรคปัญหา เพราะเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเรา...การเจรจาทั้งเจ้าหนี้ต่างประเทศและในประเทศเป็นไปด้วยดี ไม่น่าเป็นห่วง"ที่ปรึกษาฯกล่าวกับผู้ถือหุ้น
อนึ่ง ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีผลขาดทุนก่อนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 16,456 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสม 19,383 ล้านบาท
นายขาญศิลป์ กล่าวว่า มีความมั่นใจจะใช้เวลา 3-5 ปีในการพลิกฟื้นกิจการ THAI ให้กลับมาได้ เพราะธุรกิจของ THAI ยังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก และมีจุดแข็งของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกติด 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดในโลก ขณะเดียวกันบริษัทได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เพิ่มในธุรกิจที่มีความถนัด อาทิ ครัวการบิน ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ทำการบินบางเส้นทางในลักษณะเที่ยวบินพิเศษ เช่น ในเดือน ส.ค.จัดเที่ยวบินไปลอนดอน 3 เที่ยวบิน แฟรงเฟิร์ต 2 เที่ยวบิน ซิดนีย์ 4-5 เที่ยวบิน นอกจากนี้จัดเที่ยวบินไปเฉิงตู นาริตะ ทั้งนี้ เป็นการรับคนไทยจากต่างประเทศ และขนส่งสินค้า
ในการเจรจาเจ้าหนี้ที่มีทั้งเจ้าหนี้ต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน ซึ่งก็เห็นใจที่บริษัทต้องจอดเครื่องบินในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กฎหมายบางประเทศก็ไม่รับการหยุดพักชำระหนี้ (Automatic Stay) จากที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็ต้องไม่ทำการบินในประเทศนั้นๆ
ขณะเดียวกัน บริษัทได้พูดคุยกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งส่วนใหญ่หรือ 70-80% ของจำนวนเจ้าหนี้เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู เพราะดีกว่าปล่อยให้บริษัทการล้มละลาย เพราะยังมีโอกาสทำธุรกิจสร้างรายได้เข้ามา มีเจ้าหนี้จำนวนน้อยกว่า 30% ที่ยังไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยมีประมาณกว่า 10% ของมูลหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท
นายขาญศิลป์ กล่าวว่า หากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู และแต่งตั้งผู้บริหารแผน 6 รายที่เสนอไป และสามารถมีเงินกู้มาหมุน ประกอบกับหากมีการผลิตวัคซีนในปลายปี 64 ก็หวังว่าบริษัทจะกลับมามาเปิดบินได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีวัคซีนออกมาเมื่อใด
ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนที่จะเสนอที่เป็นกรรมการ 6 รายได้แก่ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ,นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องแผนฟื้นฟูที่จะพิจารณาเหตุผลการเข้าฟื้นฟูจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว แนวทางการฟื้นธุรกิจ และผู้บริหารแผนทั้ง 6 รายมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จักผลงานที่ผ่านมา โดยย้ำว่าธุรกิจการบินไทยถูกกระทบจากภายนอก ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก
ส่วนกระบวนการยื่นขอรับชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ซึ่ง THAI ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงกรมบังคับคดี เพื่อเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในวันนัดไต่สวนคำร้อง 17 ส.ค.นี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางอย่างเต็มที่
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในการไต่สวนคำร้องนั้นคาดว่าศาลลัมละลายกลางจะพิจารณาคำสั่งในประเด็นสำคัญเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น คือ 1.บริษัทสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และ 2.สมควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนที่บริษัทเสนอไปหรือไม่ แต่ศาลจะยังไม่พิจารณาว่าเจ้าหนี้รายใดเป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเท่าใด และจะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากน้อยเพียงใด โดยขั้นตอนการพิจารณดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากศาลคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนเพื่อจัดทำแผนเสนอให้เจ้าหนี้ทั้งหลายพิจารณา
"หลังวันที่ 17 ส.ค.ที่ศาลให้เราทำแผนฟื้นฟูฯ จะลงราชกิจจานุเบกษาให้เจ้าหนี้มายืนยันภายในไม่เกิน 3 เดือนจะยื่นแผนฟื้นฟู ถ้าได้รับอนุมัติเราจะสามารถปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ก็เหมือนที่เคยดูธุรกิจ IRPC"นายชาญศิลป์ กล่าว