CKP ใกล้สรุปโรงไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ในลาว 1-1.5 พันMW ลทุนหลักแสนลบ.,เล็งขยาย Co-gen และ โซลาร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2020 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) คาดว่า บริษัทจะได้ข้อสรุปการเจรจาเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,000-1,500 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ โดยจะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ลงทุนราว 135,000 ล้านบาท

"ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเจรจา และได้รับการแจ้งจากรัฐบาลลาวว่าให้เก็บข้อมูลเป็นความลับก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถออกข่าวได้ก็ดูเหมือนเงียบๆ แต่ว่าเราก็ทำงานกันอยู่ เร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ให้เร็วที่สุด"นายธนวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทสนใจเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อนร่วม (Co-gen) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์ม ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตปีละ 5-10 เมกะวัตต์ โดยปีนี้จะลงทุนโซลาร์ รูฟท็อป ร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า ขณะเดียวกันยังมองหาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งอื่นใน สปป.ลาวและในเมียนมาด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทได้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 939 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตรวม 2,167 เมกะวัตต์ โดยสัดส่วนของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังคงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก

นายธนวัตม์ ยังกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้ตั้งงบลงทุน 4,000-4,500 ล้านบาทเพื่อลงทุนโครงการใหม่ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว และโซลาร์ โดยเตรียมออกหุ้นกู้ วงเงิน 3,500 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาวที่ใกล้ได้ข้อสรุปนั้นจะเป็นการทยอยลงทุน ในแต่ละปีจึงใช้เงินลงทุนไม่มาก เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่ใช้เวลาลงทุนถึง 8 ปี ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเดินเครื่องได้ 2-3 ปีก็จะออกหุ้นกู้เพื่อลดภาระต้นทุนการเงิน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2

อนึ่ง ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น CKP วานนี้ได้อนุมัติขยายวงเงินการออกและเสนอขายหุ้นกู้จากเดิมที่วงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เป็นวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนโครงการใหม่

"ในส่วนโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนในปีนี้เป็นโครงการที่เราถนัดคือโครงการ Hydro หรือพลังน้ำที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขนาด 1,000-1,500 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า Co-gen ที่จะลงทุนเพิ่มเติม โครงการโซลาร์ก็มีแผนลงทุนเพิ่มเติมเช่นกัน กับบริษัทที่เป็นพันธมิตรหรือว่าคู่ค้าที่จะลงทุนเป็น Solar Rooftop ก็ดี เป็น Solar Farm ก็ดี"

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบโดยตรงกับบริษัท เพราะบริษัทผลิตขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ส่วนพลังงานความร้อนร่วมได้ขายตรงให้กับนายหน้าที่ขายไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทจึงรับผลกระทบไม่มาก

ส่วนผลการดำเนินการในช่วงครึ่งแรกปีนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีความสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยเนื่องจากสภาวะน้ำแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 62 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณฝนสะสมในฤดูฝนที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งอยู่เหนือโรงไฟฟ้าไซยะบุรี มีค่าต่ำสุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้อัตราการไหลในแม่น้ำโขงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก และส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

แต่ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 เข้าหน้าฝนและหน้ามรสุม ทำให้มีปริมาณน้ำเข้ามามากทำให้ความสามารถการผลิตไฟฟ้าสูงสุดได้ โดยคาดว่าอัตราการไหลของแม่น้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่มีอัตราการไหลประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งในเดือน ก.ค.-ส.ค.63 ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นทำให้อัตราการไหลมากกว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้คาดว่าครึ่งปีหลังจะเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตทั้งสองแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ