นายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในงวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) จะยังเติบโตต่อเนื่องจากงวดปี 62/63 (เม.ย.62-มี.ค.63) ที่มีรายได้จากการขาย 1.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะขณะที่ประชาชนหันมาใส่ใจด้านสุขอนามัย และมีพฤติกรรมการสั่งอาหารมาทานที่บ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีการใช้หน้ากากใส (Face Shield) เพื่อป้องกันโควิด-19 กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมองว่าปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในระยะยาว และน่าจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของงวดปี 63/64 (เม.ย.-มิ.ย.63) ที่น่าจะทำยอดขายได้ดีขึ้นมาก
ขณะที่ความต้องการแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนานำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายขึ้น เช่น เทปฉลาก การเคลือบด้วยความร้อน การถ่ายภาพและงานกราฟิก แผงโซลาร์เซลล์ การก่อสร้าง และอุปกรณ์เกี่ยวกับแสง คาดว่ายอดขายจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติที่มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 4-6% ต่อปี หลังจากหลายประเทศคลายล็อกดาวน์มากขึ้น น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในงวดปีนี้ให้เติบโตขึ้นได้
"บริษัทถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นอันดับ 5 ของโลก จากฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ตุรกีและสหรัฐอเมริกา จึงได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากปริมาณความต้องการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาวในอัตราปกติ 5-7% ต่อปี โดยเอเชียถือเป็นตลาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง คิดเป็น 3 ใน 4 ของแผ่นฟิล์มทั่วโลก เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ในหลายประเทศยังมีอัตราการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหัวต่อปียังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ ที่มุ่งผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง รับความต้องการของใช้ในภูมิภาคนี้มากขึ้น" นายอทิต กล่าว
นายอทิต กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมแผ่นพิล์ม PET ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางเช่นเดียวกับในประเทศไทย ทำให้กลุ่มผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET ของโลกเร่งผลิตสินค้ารองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการประเมินว่าตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง เพื่อนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาคอาเซียนช่วงโควิด-19 จะเติบโตสูงถึง 30-40% จากเดิมเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี
ดังนั้น บริษัทจึงได้วางงบลงทุนในปีบัญชี 63/64 ราว 90-100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า แบ่งเป็น โครงการลงทุนแผ่นฟิล์ม BOPP (Biaxially Oriented Polypropylene Film) หรือแผ่นฟิล์มโพลีโพรพีลีนที่มีประสิทธิภาพสูง มีคุณสมบัติเด่นในด้านความยืดหยุ่น โปรงใสและโปร่งแสง ในประเทศอินโดนีซีย กำลังการผลิตประมาณ 6 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในครึ่งปีแรกของงวดปี 64/65 ใช้เงินลงทุนรวม 52.5 ล้านเหรียญฯ
และ โครงการรีไซเคิลของบริษัท อีโคบลู จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศไทยที่ PTL ถือหุ้นใน 66.5% ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา อีโคบลู ได้ปรับปรุงสายการผลิตที่มีอยู่ซึ่ งประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเกรดเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) คุณภาพสูงที่เรียกว่า 3D Pure สามารถใช้แทนเม็ดพลาสติกใหม่ในงานประเภทฟิล์ม, เส้นใยยาว และขวด จากความสำเร็จของ 3D Pure ผลักดันให้ Ecoblue ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ขึ้นในการรีไซเคิลขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อใช้ผลิตสินค้าระดับบนให้กับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อทำให้อีโคบลูก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทรีไซเคิลชั้นนำของภูมิภาค กำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันต่อปี คาดจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในครึ่งปีแรกของงวดปี 64/65 ใช้งบลงทุนราว 12 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ บริษัทยังจะลงทุนในโครงการขนาดเล็กเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ HVAS หรือประสิทธิภาพในการผลิตของสายการผลิตที่มีอยู่ ค่าใช้จ่ายรวมในโครงการมีมูลค่าประมาณ 35-40 ล้านเหรียญฯ โดยโครงการเหล่านี้มีแหล่งเงินลงทุนจากกระแสเงินสดภายในของบริษัท
นายอมิต กล่าวว่า บริษัทฯ ยังมีการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและอัตราการใช้เครื่องจักรที่ดี รวมถึงทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ทุก 3 เดือน และมีการกระจายความเสี่ยงทั้งการลงทุน โดยจะเน้นลงทุนในประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูงเป็นหลัก และการส่งออกไปในหลายประเทศทั่วโลก