นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า SPP ที่ตั้งอยู่ในจ.ปทุมธานี อีกจำนวน 30 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 65 โดยกำลังการผลิตของส่วนขยายนี้จะจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมชุมนุมทรัพย์ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ราย เบื้องต้นได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าที่มีศักยภาพไว้จำนวนหนึ่งแล้ว
โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอชั่น ตั้งอยู่ที่ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่น ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังผลิตติดตั้ง 110 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี (ปี 56-81) ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 10 เมกะวัตต์ ลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร 6 เมกะวัตต์ และนิคมอุตสาหกรรมชุมนุมทรัพย์ 4 เมกะวัตต์ สำหรับไอน้ำที่ผลิตได้ 10 ตัน/ชั่วโมงจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร
ล่าสุด กฟผ. ได้เห็นชอบข้อเสนอขอขยายกำลังการผลิตของโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุน 1.6 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 30 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 5.46 ตัน/ชั่วโมง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 140 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำ 15.46 ตัน/ชั่วโมง โดยจะใช้เงินทุนในสัดส่วน 25% ส่วนที่เหลือจะใช้เงินกู้โครงการ ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในปลายปีนี้
นายกิจจา กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการต่อยอดหลังจากที่บริษัทเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น (ชื่อเดิม นวนครการไฟฟ้า) เมื่อเดือนต.ค.62 เนื่องจากที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติต่างๆ จำนวนมาก ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
"โครงการจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่บริษัท ได้พัฒนาคิดค้นขึ้นให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับการเพิ่มและลดการผลิตในระยะเวลารวดเร็วโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการผลิต อีกทั้งช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง และลดต้นทุนการผลิตด้วย นับเป็นหนึ่งในโครงการที่บริษัทมีความภาคภูมิใจ โดยไม่เพียงส่งผลดีในมิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ร่วมในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมในภาพรวมอีกด้วย"นายกิจจา กล่าว