นายวิศิษฏ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้า(EGCO)เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนในปีนี้เพิ่มเติมจากที่ตั้งไว้ 10,495 ล้านบาท เพื่อร่วมทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะร่วมกับ บมจ.ปตท.(PTT) และบริษัท เซฟโก้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกำจัดขยะจากอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะสรุปสัดส่วนการถือหุ้นได้ในเร็วๆ นี้
โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ใน จ.ภูเก็ต ขนาด 20 เมกะวัตต์ จะใช้ลงทุนรวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/51
"เชื้อเพลิงที่เป็นขยะในจังหวัดภูเก็ตมีประมาณวันละ 500 ตันน่าจะเพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า" นายวิศิษฎ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมืออยู่แล้วประมาณ 3,359 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงต้นปีมาถึงเดือน ก.ค.50 บริษัทใช้งบลงทุนในปีนี้ไปแล้วประมาณ 9,461 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในโครงการ BLCP
นอกจากนั้น บริษัทยังมีโครงการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังลมในพื้นที่ จ.สงขลา คาบเกี่ยว จ.นครศรีธรรมราช ซึ่ง EGCO ถือหุ้น 20% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 30% และ บมจ.ปตท.(PTT) 50% หลังการทดสอบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแรงลมในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณละ 35 เมกะวัตต์
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า บริษัทยังเตรียมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพี โดยคาดว่าจะชนะประมูลไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้พิจารณาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมอยู่ 12 จุด ซึ่งหากประมูลได้ไม่เกิน 1.6 พันเมกะวัตต์ EGCO ก็จะดำเนินการเองทั้งหมด แต่หากเกินจากนั้นก็จะหาพันธมิตรที่สามารถเสริมด้านธุรกิจกันได้เข้ามาร่วมทุน
ทั้งนี้ บริษัท มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในแง่ของบุคคลากร การเงิน และเทคนิค ประกอบกับการการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จึงมั่นใจว่าจะได้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ก่อตั้งโรงไฟฟ้า IPP ในรอบนี้
ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่นั้น ทั้งโครงการน้ำเทิน 2 ขนาด 1.7 พันเมกะวัตต์ที่ EGCO ถือหุ้น 25% คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนงานในปี 52 และโรงไฟฟ้าแก่งคอยชุดที่ 2 เมื่อรวมกับน้ำเทิน 1 จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นของ EGCO เพิ่มเป็น 4,143 เมกะวัตต์ จากเดิม 3,509 เมกะวัตต์
ด้าน นายศักดา ศรีสังคม รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงิน กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะปรับโครงสร้างหนี้จำนวนประมาณ 5 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระในต้นปี 51 เพื่อยืดอายุหนี้ออกไป โดยจะเจรจากับเจ้าหนี้เดิมคือ ธ.กรุงเทพ และ ธ.ไทยพาณิชย์ โดยคาดว่าจะได้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยลดลง น่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 4/50
และในอนาคตหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% บริษัทก็อาจพิจารณาสวอปหนี้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี(BLCP) ซึ่ง 75% เป็นดอลลาร์สหรัฐ
ด้านการจ่ายเงินปันผลงวดปี 50 คาดว่าจะสามารถจ่ายได้ในอัตราสูงกว่า 4 บาท/หุ้นตามอัตราการจ่ายปันผลไปเมื่อปีก่อน เนื่องจากนโยบายของบริษัทจะจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าปีนี้กำไรสุทธิของบริษัทจะใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่ากำไรในช่วงครึ่งปีหลังอาจต่ำกว่า 5,025 ล้านบาทในครึ่งปีแรก เพราะจะมีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้า BLCP บางหน่วย และโรงไฟฟ้าขนอมในช่วงปลายปีนี้
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--