นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) กล่าวในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น NOK วันนี้ว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะส่งผลดีกว่าการยกเลิกกิจการเพื่อชำระบัญชีที่ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้ทุนคืน เพราะปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 2 พันล้านบาท
บริษัทยังมั่นใจว่าการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจะประสบผลสำเร็จ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษาและผู้บริหารแผนฯ และทำให้บริษัทสามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้
นอกจากนั้น ยังจะทำให้บริษัทเดินหน้าธุรกิจในสถานการณ์ New Normal ต่อไปได้ด้วยการปรับโครงสร้างต่างๆ ซึ่งในอนาคตบริษัทมีแผนขยายฝูงบินที่อาจจะปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินประเภทเดียว จากปัจจุบันมี 2 แบบคือเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 และ เครื่องบินใบพัด Q400 โดยคาดว่าจะยกเลิกเครื่องบินแบบใบพัดไปเมื่อสนามบินในประเทศเกือบทุกแห่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
ขณะที่นายเกษมสันต์ วีระกุล กรรมการ NOK กล่าวว่า จากที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทอยู่ในภาวะพักการชำระหนี้ บริษัทจึงสามารถเดินหน้าธุรกิจให้บริการการบินได้ตามปกติ โดยในแผนฟื้นฟูจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และอยู่บนความสามารถการชำระหนี้ของบริษัทด้วย พร้อมกันนั้นจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงแนวทางการหารายได้ โดยหลังสถานการณ์โควิดจะต้องทำธุรกิจรูปแบบใหม่
อนึ่ง NOK ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท บริษัทได้เสนอบริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ นายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี นายเกษมสันต์ วีระกุล นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัท เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ
ทั้งนี้ ตัวแทนจากบริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ NOK ในวันที่ 27 ต.ค.63 และแต่งตั้งผู้บริหารแผน โดยก็จะส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และให้เจ้าหนี้ยื่นแสดงมูลหนี้ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาจัดทำแผนฟื้นฟู 3-5 เดือน
หากศาลฯอนุมัติแผนฟื้นฟูฯ ก็จะเข้าสู่กระบวนการบริหารแผน คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี หากไม่เสร็จก็สามารถขยายเวลาได้ครั้งละ 1 ปี ได้ 2 ครั้ง รวมเป็นทั้งหมด 7 ปี
สำหรับประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับการเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการ จะทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการด้านการเงินและธุรกิจเพื่อให้จ่ายชำระหนี้ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยบริษัทมีโอกาสได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ให้สามารถจัดทำแนวทางแก้ปัญหาด้านหนี้สิน และเตรียมเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19
บริษัทจะได้รับการพักชำระหนี้โดยผลกฎหมาย ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ชั่วคราว จึงทำให้ทรัพย์สินจะไม่ต้องถูกยึด ซึ่งทำธุรกิจต่อไปได้ และให้ความสำคัญกับเงินทุนที่นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจะให้ความสำคัญก่อนหนี้สินที่ไม่มีหลักประกัน นอกจากนั้น บริษัทจะปรับโครงสร้างหนี้ให้บริหารจัดการได้ และมีกระบวนการทำให้เกิดความคล่องตัวโดยไม่ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายที่มีหลายร้อยราย เป็นการเจรจาเจ้าหนี้โดยรวม
ผลของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจะช่วยสร้างศักยภาพให้บริษัทฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้นกแอร์สามารถดำเนินธุรกิจปกติได้อย่างต่อเนื่อง มีการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินให้ดียิ่งขึ้น มีแผนการบินที่มีประสิทธิภาพ และแผนการบินที่ดี นอกจากนี้ปรับโครงสร้างรายได้ จะปรับปรุงรายได้จากค่าตั๋ว และรายได้เสริม ปรับสัดส่วนรายได้ของแต่ละรายการ ที่สำคัญ จะมีการทบทวนสัญญาการบำรุงรักษากับลุฟท์ฮันซ่าที่เป็นต้นทุนคงที่ ทำให้ต้นทุนลดลง
ด้านนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวว่า ปัจจุบัน NOK มีกระแสเงินสดทั้งวงเงินกู้ จากผู้ถือหุ้นที่ยังใช้ไม่หมด โดยเหลือวงเงินไม่ถึง 1 พันล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 3 พันล้านบาท สามารถใช้ประกอบธุรกิจต่อเนื่อง 90 วันหมุนเวียนไป ขณะที่บริษัทเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 737-800 อีก 2 ลำในปลายปี 63
ทั้งนี้ NOK เผชิญการแข่งขันรุนแรงมาตั้งแต่ปี 62 ไม่เฉพาะในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ แต่มีสายการบิน Full Service x เข้ามาแข่งขันด้วย ประกอบกับ ความผันผวนทั้งราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงนโยบายของภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ดี บริษัทหันมาหารายได้เสริมเพิ่มเติมจากธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) ซึ่งจากเดิมไม่เคยมีรายได้จากส่วนนี้ โดยได้ลงนามสัญญากับ AVS Cargo Management Services Pvt.Ltd เป็นพันธมิตรในธุรกิจคาร์โก้ส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่ขณะนี้น่านฟ้ายังปิดอยู่ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ ในปีที่แล้วได้ลดค่าใช้จ่ายจากการคืนเครื่องบิน โบอิ้ง737-800 ที่เป็นเครื่องบินเก่าออกไป 1 ลำ เหลือ 24 ลำ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก รวมทั้งตัดเส้นทางที่มีการแข่งขันสูง 3 จุดบิน ได้แก่ นครพนม ร้อยเอ็ด และ น่าน ช่วยให้ในปี 62 บริษัทมีผลขาดทุน 1.928.34 ล้านบาท ลกลงจากปี 61 ที่ขาดทุน 2,782.57 ล้านบาท รวมทั้งขยายเส้นทางไปต่างประเทศมากขึ้น อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดทำให้ภาพเปลี่ยนไป จนทำให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ประธานกรรมการบริหาร NOK กล่าวว่า ขณะนี้ นกแอร์กลับมาบินแต่ใช้กำลังการผลิตเกิน 50% แล้ว จากเครื่องบินทั้งหมดที่มีอยู่ 22 ลำ เพราะยังไม่สามารถบินระหว่างประเทศได้ ส่วนกรณีที่คู่แข่งจะเปิดทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น นกแอร์ก็คงต้องไปทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อขยายตลาดด้วยเช่นกัน
ส่วนกรณีของ บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นในสายการบินนกสกู๊ตนั้น เมื่อสายการบินนกสกู๊ตชำระบัญชีหลังเลิกกิจการ ทำให้ส่วนทุนที่บริษัท นกมั่งคั่ง ลงทุนไปก็เป็นศูนย์ ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินนกสกู๊ตมีผลขาดทุนมาตลอด ในปี 62 มีรายได้ 7,207.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5,828.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23.66% เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 36.66% จาก 1.16 ล้านคน เป็น 1.59 ล้านคน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบิน โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มจำนวนเครื่องบินจากเดิม 5 ลำในปี 61 เป็น 7 ลำในปี 62. แต่ในปี 62 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,352.18 ล้านบาท ลดลงจากปี 61 ที่ 1,528.33 ล้านบาท
ในวันนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น NOK อนุมัติการให้สัตยาบันรับความช่วยเหลือทางการเงิน 3,000 ล้านบาทมีอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ไม่เกินกว่งอัตราเฉลี่ยดอกเบี้ย MLR ของธนาคารขนาดใหญ่ บวก 1% ต่อปี จากผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยขยายเวลาจากเดิมไม่เกิน 12 เดือน เป็นไม่เกิน 48 เดือน ครบกำหนดวันที่ 14 พ.ค.66 จากวันที่เริ่มกู้ 14 พ.ค.62 โดยผู้ให้กู้สามารถบอกเลิกสัญญา หรือยกเลิกวงเงินที่เหลือได้ทันที
ทั้งนี้ บริษัท แคปปิตอล ลิ้งค์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระให้ความเห็นว่า การรับความช่วยเหลือทาวการเงินดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังประสบปัญหากระแสเงินสดจากการดำเนินการติดลบ