นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท (SUN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้ารายได้ปี 63 เติบโต 10-15% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกรายได้จะเติบโตค่อนข้างมากถึง 41.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้
"เราไม่ได้มีการปรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ขึ้น เนื่องจากเรายังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะมีผลกระทบรุนแรงอีกได้ แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราได้มีการบริหารจัดการภายในอย่างมีประสิทธิภาพทั้งการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่าง ๆ จัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตให้มากยิ่งขึ้นด้วย จึงเห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกเรามีการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านรายได้และกำไรสุทธิ"นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมั่นใจว่าทิศทางรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการพูดคุยกับลูกค้า ติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดผ่านระบบออนไลน์ ในขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่ผลักดันความต้องการที่จะหาผู้ผลิตสินค้ารายใหม่ๆเข้ามารองรับกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ ซึ่ง SUN ได้รับการติดต่อเข้ามาค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากทั้งลูกค้ารายใหม่ และรายเดิม มากกว่า 50 ประเทศ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาล่วงหน้าไปถึงไตรมาส 4/63 แล้ว สำหรับปริมาณการผลิตในปีนี้บริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4-1.5 แสนตัน จากปีก่อนที่สามารถผลิตได้ราว 1 แสนตัน
บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนไว้ราว 50-100 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการลงทุนไลน์การผลิตสินค้าพร้อมทาน 5 ไลน์การผลิต มูลค่าการลงทุนราว 10-20 ล้านบาทต่อไลน์การผลิต เพื่อที่จะออกสินค้าพร้อมทานอีก 5 ชนิด ทุกๆ 1-3 เดือน ต่อ 1 ชนิด โดยที่ผ่านมาสินค้าพร้อมทานเพื่อสุขภาพได้รับการติบรับที่ดี มีการเติบโตกว่าเท่าตัว ซึ่งสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้วันต่อวัน
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในโรงงาน มูลค่าการลงทุนหลัก 10 ล้านบาท เนื่องจากการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นถึง 40-50% มีขยะที่ออกมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดของเสียทิ้งเปล่า บริษัทฯ จึงจะนำขยะที่เหลือจากการผลิตมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม
ในขณะเดียวกันยังมองหาการลงทุนด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ตามยอดขายที่เติบโต ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านขนส่งมีจำนวนมากบริษัทจึงมองเป็นโอกาสอีกทางหนึ่งในการลดต้นทุนด้วย