นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) คาดว่ายอดขายเหล็กในงวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) จะทำได้ใกล้เคียงในงวดปี 62/63 ที่มียอดขาย 1.21 ล้านตัน แม้สถาบันเหล็กคาดการณ์ความต้องการเหล็กในประเทศจะลดลง 6-7% ในปีนี้ มาที่ 1.79 ล้านตันก็ตาม เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะสามารถแข่งขันได้ เพราะสามารถผลิตเหล็กแท่งยาว (Billet) ได้เอง โดย Billet นับเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็ก
นอกจากนี้บริษัทคาดสัดส่วนส่งออกในปี 63/64 จะลดลงเป็น 5% จาก 10% ในปีก่อน เนื่องจากในปีนี้ภาครัฐมีมาตรการผลักดันงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และมีการกระตุ้นงบลงทุนในแต่ละจังหวัด ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่ายอดขายของบริษัทจะไม่ลดลง โดยคาดว่าครึ่งหลังปีนี้น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก และคาดยอดส่งออกจะดีขึ้นด้วย หากอินเดียซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่กลับมาฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จากไตรมาส 1 ของปี 63/64 ที่มีสัดส่วนส่งออก 4-5%
ขณะที่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็จะช่วยผลักดันยอดขายเหล็กด้วย อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา (ไทย-จีน) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ปลายปี 63 จะเริ่มขั้นตอนสั่งซื้อ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง และโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ
"อุตสาหกรรมเหล็กที่เกี่ยวกับภาคก่อสร้างได้รับการสนับสนุนของภาครัฐ เราเชื่อว่าเราจะทำผลประกอบการใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ภาพรวมจะลดลง 6-7% ...บริษัทยังลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพราะเราผลิต Billet ได้เอง ทำให้เราได้เปรียบ"นายราจีฟ กล่าว
นายราจีฟ กล่าวอีกว่า บริษัทคู่แข่งไม่มีการผลิต Billet เหมือนกับ TSTH เพราะไม่มีเตาหลอม ราคาเศษเหล็กก็สูงขึ้นและเงินบาทแข็งค่า ก็ยิ่งทำให้มีต้นทุนสูง ขณะที่บริษัทมีเตาหลอมเอง และความน่าเชือถือแบรนด์ของบริษัทก็จะทำให้มีโอกาสได้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นระดับ 22-23% จากปัจจุบันอยู่ที่ 18%
สำหรับกำลังการผลิตของบริษัทปัจจุบันเดินเครื่อง 1.2 ล้านตัน/ปี หรือมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 70-71% ของกำลังผลิตรวม 1.7 ล้านตัน/ปี เทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 40% ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 75% ดังนั้น บริษัทจึงได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กผลักดันให้ภาครัฐใช้ Local Content มากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทมุ่งที่จะรักษาเงินสดเพื่อรับมือในช่วงยากลำบาก โดยปัจจุบันมีฐานะการเงินแข็งแรง และยังคงจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ตรงเวลา และลูกค้าก็จ่ายเงินให้กับบริษัทตรงเวลาเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 62/63 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 216 ล้านบาท กำไรสุทธิ 54 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA ที่ 254 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท ขณะที่เมื่อเทียบกับในไตรมาสที่แล้วมี EBITDA ที่ระดับ 274 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท
สำหรับการควบรวม 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บมจ.เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป (NTS) ถือหุ้น 99.76% บจก.เหล็กสยาม (2001) (SISC) ถือหุ้น 99.99% และ บจก.เหล็กก่อสร้างสยาม (SCSC) ถือหุ้น 99.99% ให้เป็นบริษัทเดียวกันนั้น นายราจีฟ กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อให้โครงสร้างบริษัทง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน และ TSTH เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการร่วมการจัดซื้อร่วมกันอยู่แล้ว
ส่วนความคืบหน้าการหาผู้ลงทุนรายอื่นของ T S Global Holdings Pte.Ltd (TSGH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในประเทศอินเดียนั้นยังต้องการหาผู้ลงทุนระยะยาวแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด หลายบริษัทก็ต้องการรักษาเงินสด ทำให้ยังมีความล่าช้าอยู่