SINGER อวดกำไร H1/63 ทำนิวไฮรอบ 23 ปี พร้อมเปลี่ยนนโยบายปันผลเป็นไม่น้อยกว่า 50% ของกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 10, 2020 18:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำครึ่งปีแรก 2563 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี มีกำไรสุทธิ 202 ล้านบาท เติบโต 110 ล้านบาท หรือคิดเป็น 119.6% จากงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนอยู่ที่ 92 ล้านบาท และเติบโตกว่าปี 2562 ทั้งปีที่ทำได้ 165.89 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 1,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 438 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.1% มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 45.4% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.7%

ด้านผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2563 ที่โดดเด่นต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิ 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63 ล้านบาท หรือคิดเป็น 121.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 52 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.9% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น พอร์ตสินเชื่อรถทำเงินเติบโต และการบริหารจัดการภายในที่ดีเยี่ยม ผลจากการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

อีกทั้ง SINGER ไม่กระทบสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมือง เนื่องจากรูปแบบการขายของ SINGER เป็นการขายตรงผ่านตัวแทนที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 2,000 ราย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับความสำเร็จในการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ได้แล้ว 1,500 แห่ง จากแผนที่ตั้งไว้ปีนี้จะขยายสาขา 2,000 แห่ง สะท้อนภาพรวมในตลาดต่างจังหวัดที่ยังเข้มแข็ง และพลัง Synergy ร่วมกันในกลุ่มเจมาร์ทเสริมแกร่ง

สำหรับรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2563 สาเหตุหลักมาจากสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมาก และสามารถบันทึกยอดขายทำสถิติสูงสุดใหม่ รับอานิสงส์ Work from Home และสภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูร้อน ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน "รถทำเงิน" เติบโต ผลจากการเพิ่มทุนในปี 2562 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ นำเงินที่ได้มาขยายพอร์ตได้เพิ่มขึ้น พร้อมจัดทัพทีมขายรุกตลาดในปีนี้เต็มกำลัง

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทฯ มีลูกหนี้จำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3,861 ราย ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2,159 ล้านบาท โต 19.3% จากสิ้นไตรมาส 1/2563 และตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อรถทำเงินในปีนี้ 3,400 ล้านบาท เติบโตขึ้นเท่าตัวจากพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินปีก่อนรวมที่ 1,500 ล้านบาท เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ด้วยระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับไม่ถึง 1% และไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจาก ปัจจุบันดอกเบี้ยรถทำเงินอยู่ที่ 16% ไม่เกินจากที่กำหนดไว้ที่ 24% ทั้งยังมองเป็นโอกาสของลูกค้าที่อยู่ในพอร์ตคู่แข่งที่อัตราดอกเบี้ยสูง สามารถรีไฟแนนซ์ (Refinance) มาใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถซิงเกอร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า

"พอร์ตสินเชื่อรวมครึ่งปีแรก ปี 2563 อยู่ที่ 4,657 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 2,498 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 2,159 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 53.6% และ 46.4% ตามลำดับ ของสินเชื่อรวมทั้งหมด และเป็นผลจากฐานลูกหนี้ทั้งสองกลุ่มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งเน้นขยายพอร์ตรถทำเงินได้สำเร็จ เป็นพอร์ตที่อัตราดอกเบี้ยดี และความเสี่ยงต่ำ คาดครึ่งปีหลังภาพรวมการเติบโตจะยังดีต่อเนื่อง" นายกิตติพงศ์ กล่าว

นายกิตติพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่า เป้าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้วางไว้จะเติบโตแตะ 5,800 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 3,600 ล้านบาท หรือโตกว่า 61% มั่นใจจะเป็นไปตามเป้าหมาย ควบคู่การบริหารจัดการภายในที่ดี นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการอนุมัติสินเชื่อ เข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรกภาพรวมการเก็บหนี้ยังทำได้ดี การตั้งสำรองอยู่ในระดับปกติ สนับสนุนให้ต้นทุนของบริษัทฯ ลดลง และภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ( NPL) ลดลงอยู่ที่ 6.49% ดีกว่าเป้าหมายวางไว้ที่ 7% และจากไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ระดับ 8.1%

SINGER แจ้งตลาดหลักหลักทรัพย์ฯเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้ อนุมัติการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินจ่ายปันผล เป็นไม่น้อยกว่า 50% จากเดิมไม่เกิน 60% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักภาษีเงินได้ สำรองตามกฏหมายและสำรองอื่นๆ ในแต่ละปี ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลจะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ กำไรจากการดำเนินงาน แผนการลงทุนต่างๆ ในอนาคต พร้อมทั้งเพิ่มเติมให้คณะกรรมการของบริษัทมีอำนาจในการพิจารณายกเว้นไม่ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวได้เป็นครั้งคราว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ