PRINC หันขยายคลีนิคเจาะกลุ่มล่าง พร้อมลุยซื้อรพ. 9 แห่ง ราว 4 พันลบ. ,คาดพลิกมีกำไรในปี 65

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 11, 2020 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) เปิดเผยว่า การปรับแผนกลยุทธ์ของบริษัทหลังจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น บริษัทจะหันมาขยายธุรกิจที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับล่างมากขึ้น ผ่านการขยายธุรกิจ Health Care ในรูปแบบคลีนิค เพื่อให้การบริการด้านการแพทย์ในเครือของบริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าในชุมชนได้มากขึ้น ช่วยขยายฐานลูกค้าของบริษัท ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางมาโรงพยาบาล และเพื่อการรักษาโรคทั่วไป ในราคาที่ย่อมเยาว์กว่าโรงพยาบาล ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนลดลง ทำให้เข้ามารักษาในโรงพยาบาลน้อยลง เพราะค่ารักษาในโรงพยาบาลจะแพงกว่าการรักษาในคลีนิคสำหรับโรคทั่วไป

อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลในเครือของบริษัทได้ หากผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการลงทุนคลีนิคมีการลงทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนโรงพยาบาลค่อนข้างมาก และใช้ระยะเวลาในการคืนทุนไม่นาน โดยในช่วงปลายปีนี้บริษัทคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการลงทุนธุรกิจในรูปแบบคลีนิค ซึ่งจะเปิดนำร่องในกรุงเทพฯก่อน และทยอยขยายไปตามพื้นที่ต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดในระยะต่อไป

"ทิศทางการขยายธุรกิจหลังจากโควิด-19 เข้ามากระทบ เรามองไปถึงการขนายลงไปถึงรากหญ้ามากขึ้น ผ่านการขยายการให้บริการในรูปแบบคลีนิค ที่ลงทุนไม่มาก ราคารักษาที่ย่อมเยาว์ สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ และช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับบริษัท อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารตส่งต่อผู้ป่วยมารักษาในเครือโรงพยาบาลของบริษัทได้"นายสาธิต กล่าว

สำหรับแผนการลงทุนขยายโรงพยาบาลของบริษัทยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งกลยุทธ์การขยายการลงทุนโรงพยาบาลจะหันมาเป็นการซื้อโรงพยาบาลเป็นหลัก มากกว่าการพัฒนาโรงพยาบาลใหม่เอง ที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี ถึงจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวก ต่างจากการเข้าซื้อโรงพยาบาลบริษัทสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเข้ามาในทันที ซึ่งการซื้อโรงพยาบาลจะซื้อโรงพยาบาลที่มี EBITDA เป็นบวกเท่านั้น เพื่อทำให้การลงทุนมีรายได้และกำไรเข้ามาในทันที ซึ่งช่วยผลักดันการเติบโตในภาพรวมของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว

โดยในปี 65 บริษัทตั้งเป้ามีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 20 โรงพยาบาล มีจำนวนเตียงทั้งหมด 2,000 เตียง โดยปัจจุบันบริษัทมีจำนวนโรงพยาบาลในเครือรวมทั้งสิ้น 11 โรงพยาบาล จำนวนเกือบ 1,000 เตียง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (สาขา 1), โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (สาขา 2), โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี, โรงพยาบาลพิษณุเวช (พิษณุโลก), โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร, โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน, โรงพยาบาลวิรัชศิลป์, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์อินเตอร์

สำหรับการลงทุนขยายโรงพยาบาลใหม่ที่จะเข้ามาในพอร์ตอีก 9 โรงพยาบาลที่บริษัทจะเข้าซื้อนั้น ประเมินมูลค่าการลงทุนไว้ที่เกือบ 4 พันล้านบาท แบ่งเป็น การเข้าซื้อโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่มีจำนวนเตียง 60 เตียง 8 โรงพยาบาล มูลค่าลงทุนรวม 2.4 พันล้านบาท และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 1 โรงพยาบาล มูลค่าลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยเงินลงทุนที่ใช้จะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทที่เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบัน 3 แห่ง ได้แก่ Marriott Executive Apartments Sathorn Vista, Somerset Ekamai Bangkok และอาคารบางกอก บิสซิเนสเซ็นเตอร์ มูลค่ารวมราว 6 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถขายออกไปได้หากมีผู้ซื้อให้ราคาที่ดี หรือหากบริษัทมีความต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนในการเข้าซื้อโรงพยาบาลที่ต้องการใช้เงินลงทุนอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้บริษัทยังมีที่ดินเปล่าในอ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาล หรือหากมีผู้ซื้อเสนอให้ราคาที่เหมาะสมและเป็นราคาที่ดีก็สามารถขายออกไปได้ ซึ่งที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 2 กิโลเมตร ถือว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตามบริษัทจะพยายามลดพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ลง เพื่อการเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการแพทย์อย่างเต็มตัว 100% แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการแพทย์ 90% และรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 10% แล้วก็ตาม ทั้งนี้ แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเห็นการพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในปี 65 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่การลงทุนในโรงพยาบาลต่างๆที่ผ่านมาเริ่มให้ผลตอบแทนกลับมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากที่ในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาถึงปี 63 และปี 64 ถือเป็นช่วงลงทุนขยายพอร์ตโรงพยาบาลทั้งการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอง และการซื้อกิจการ และจะเริ่มเห็นผลตอบแทนกลับมาชัดเจนขึ้นในปี 65 ขณะที่ในปี 63 ถือเป็นปีที่ธุรกิจโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย จากการที่รายได้ของคนลดลง และการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเข้ามารักษาโรงพยาบาลของคนในประเทศลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงพยาบาลในเครือในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะเห็นการฟื้นตัวขึ้น จากการที่เข้าสู่ช่วงหน้าฝนในไตรมาส 3/63 และช่วงต้นไตรมาส 4/63 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูที่เป็นช่วงปกติที่จะมีผู้ป่วยเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น และบริษัทได้เตรียมเปิดรับผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน เข้ามาชุดแรก 20,000 ราย ส่งผลให้จะมีรายได้ในส่วนของประกันสังคมเข้ามาเสริม ซึ่งมองว่าแนวโน้มรายได้ไนปี 63 จะใกล้เคียงกับ 62 ที่ 3.15 พันล้านบาท

สำหรับโรงพยาบาลในเครือของบริษัทจะยังคงเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนในพอร์ต 60% และเป็นโรงพยาบาลระดับบนในพอร์ต 40% โดยที่สัดส่วนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้ป่วยประกัน 50% และผู้ป่วยเงินสด 50% และในอนาคตบริษัทมองว่าจะเน้นไปที่การเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยประกันเพิ่มขึ้น

อนึ่ง PRINC รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุน 117.7 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 73.56 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ