นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนาม "สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)" เพื่อศึกษาแนวทางให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเยียวยาความเสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ทางก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะเป็นผู้สนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าว โดยการวิจัยครั้งนี้จะไปวิเคราะห์ถึงผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย กับการใช้สิทธิในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งกฎหมาย Class Action ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการได้รับการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความเสียหายที่คล้ายคลึงกัน สามารถรวมกลุ่มในการดำเนินคดีแพ่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิผล และประหยัดต้นทุน
"สำนักงาน ก.ล.ต. มีภารกิจและบทบาทในการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมาย และการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมผลักดันให้มีการยกร่างกฎหมายที่รองรับการดำเนินคดีแบบกลุ่มในช่วงปลายปี 2558 เพื่อให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการเยียวยาความเสียหายจากผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดภาระการดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และตั้งแต่เดือนพ.ค.2562 ได้มีการกำหนดนโยบายด้านการยกระดับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้ลงทุนที่เน้นการสนับสนุนบทบาทของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Class Action แก่ผู้ลงทุน แต่ปัจจุบันการดำเนินคดีแบบกลุ่มยังมีจำนวนน้อย สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงได้ประสานความร่วมมือเพื่อหาแนวทางส่งเสริมการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้เป็นรูปธรรม ในการนี้ขอขอบคุณหน่วยงานที่กล่าวข้างต้น รวมถึงคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นส่วนสำคัญในโครงการศึกษาฯ ซึ่งผลการศึกษาจะช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้แก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและประชาชนในวงกว้างอีกด้วย"
ด้านนายเก่งกล้า รักเผ่าพันธ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการออกกฎหมายในเรื่องของกระบวนการพิจารณาคดีแพ่ง หรือ Class Action ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนรวมกลุ่มกัน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเสียหาย แต่เนื่องด้วยกลไกความยุติธรรม อาจมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจุบัน Class Action ยังไม่แพร่หลาย ทำให้เหตุนี้ ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย โดยได้รับความร่วมมือจากทางคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับความเสียหาย ผ่านการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)
พร้อมกันนี้ทางคณะนิติศาสตร์ฯ คาดใช้เวลาในการศึกษาและทราบผลของการศึกษานั้นไม่เกิน 6 เดือน ขณะเดียวกันทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับเรื่อง Class Action และนอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนในเรื่องดังกล่าวแล้ว สมาคมฯ ยังมองโอกาสขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือไปยังผู้ถือหุ้นกู้อีกด้วย
ในฐานะที่เป็นองค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล สมาคมฯ จึงขอทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน เรื่องแนวการทางให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ที่เกิดจากการกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดทุนไทย แม้กฎหมายมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม สมาคมฯ มั่นใจว่าในการทำหน้าที่นี้และเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ การตื่นตัว และการปกป้องสิทธิของนักลงทุนให้ขยายเป็นวงกว้างขึ้นได้