นายตัน คิท จิน รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) คาดว่าสินเชื่อรายย่อยจะหดตัวลง 20-25% ตามทิศทางเดียวกับภาพรวมของระบบที่ธนาคาร ที่เกิดจากสถานการณ์ของโควิด-19 กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากทำให้มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย
ประกอบการที่ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ธนาคารได้มีการปรับเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อเชื่อรายย่อยจากการประเมินความเสี่ยงของประเภทธุรกิจที่ลูกค้าทำอยู่ ซึ่งมีการจัดประเภทความเสี่ยงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงกลาง-สูง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรม สายการบิน และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะมีเกณฑ์การพิจารณาความเสี่ยงที่เข้มงวดอย่างมาก สอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจของลูกค้า และกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ธุรกิจอาหาร จะมีเกณฑ์การพิจารณาสอดคล้องกับเสี่ยงตามธุรกิจที่ลูกค้าทำงานอยู่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงชัดเจนต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจน ประกอบกับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ธนาคารก็มีโอกาสที่จะผ่อนคลายความเข้มงวดของเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้ผ่อนคลายลงได้ตามภาวะที่ฟื้นตัวขึ้น แต่ธนาคารยังคงมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อควบคุมคุณภาพของสินเชื่อและลูกค้าตามกลยุทธ์ของธนาคารหลังจากผลกระทบของโควิด-19 เข้ามา
ด้านพอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารในปี 63 ประเมินว่าจะทรงตัวที่ 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับพอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นมิ.ย.63 ซึ่งการที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารจะอยู่ไนระดับที่ทรงตัว เพราะการปล่อยสินเชื่อใหม่ชะลอตัวลง ประกอบธนาคารได้มีการควบคุมการพิจารณาสินเชื่อที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก และการที่มีลูกค้าบางส่วนเข้าร่วมในมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้พอร์ตสินเชื่อในปีนี้จะทรงตัว
นายตัน คิท จิน กล่าวถึงมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของลูกค้ากลับมาสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามปกติมากขึ้น จากการที่มีจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้เฟส 2 ลดลง และมีลูกค้าเข้ามาปรึกษาธนาคารในการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณบวกมาเล็กน้อยในความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าที่เริ่มทยอยกลับมา ส่งผลให้แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในสิ้นปีนี้จะทรงตัวที่ 3.6% จากครึ่งปีแรก แต่เพิ่มขึ้นมาจากสิ้นปี 62 ที่ 3% ขณะเดียวกันธนาคารยังมีแผนในการขายหนี้เสียออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง เพี่อช่วยในการควบคุมระดับ NPL ให้ทรงตัวจากครึ่งปีแรก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะขายหนี้เสียออกไปจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ หลังจากโควิด-19 ธนาคารจะผลักดันผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้งมากขึ้น หลังจากจากปริมาณการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีการเติบโตถึง 2.5 เท่า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝาก จะรุกตลาดเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มเริ่มทำงาน และต้องการบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง ผ่านผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากดิจิทัล Chill D ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2% ต่อปี ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งเป้ามีลูกค้าใหม่เข้ามา 250,000 ราย จำนวนเงินฝาก 1.5 พันล้านบาท จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าเงินฝากบัญชีดิจิทัลอยู่แล้ว 250,000 ราย ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านเงินกู้ จะเปิดตัวเงินกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Lending) ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช ซึ่งเป็นการขยายฐานลูกค้าของธนาคารให้เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรอีคอมเมิร์ซแห่งรายหนึ่งในประเทศ ที่ธนาคารจะเข้าไปให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ขายสินค้าอยู่ในแพลตฟอร์มของพันธมิตร ซึ่งระบบการพิจารณาสินเชื่อจะได้ความร่วมมือจากพันธมิตรจีน ที่ธนาคารได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินความสามารถในการกู้ของลูกค้าเข้ามาช่วยพิจารณา โดยเตรียมที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้