ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร MIDA ที่ "BB+" แทนที่แนวโน้มด้วย"Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 11, 2020 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ที่ระดับ "BB+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังยกเลิก "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทและแทนที่ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" อีกด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไปอีกในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

อันดับเครดิตสะท้อนถึงขนาดของธุรกิจที่เล็กแต่มีความหลากหลายของบริษัท ตลอดจนผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงจากทั้งธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงจากการมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้นในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคงของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อและโครงสร้างเงินทุนที่ค่อนข้างระมัดระวังของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ธุรกิจขนาดเล็กแต่มีความหลากหลาย

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีขนาดธุรกิจที่เล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม รายได้และกำไรของบริษัทค่อนข้างทรงตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากธุรกิจของบริษัทค่อนข้างหลากหลายและไม่เกี่ยวข้องกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประมาณ 40% ของรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ 20% มาจากธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อีก 20% มาจากธุรกิจโรงแรม และ 20% มาจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยที่รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและค่าบริการมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย

รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตเล็กน้อยในแต่ละปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 2.5 พันล้านบาทในปี 2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วงระหว่าง 0.5-0.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2562 แม้จะมีความผันผวนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจโรงแรมก็ตาม

ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโรงแรมและธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัท มาตรการควบคุมการเดินทางและการปิดพื้นที่โดยคำสั่งของภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 การผ่อนคลายการปิดพื้นที่ภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของโรงแรมที่ตั้งอยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯ ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลกซึ่งส่งผลให้มาตรการควบคุมการเดินทางยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ซื้อต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนชาวจีนก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันและคาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมของบริษัทจะลดลงมากถึง 65% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วเหลือ 275 บาทต่อห้องต่อคืนในปี 2563 และคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นเป็น 580 บาทต่อห้องต่อคืนในปี 2564 และเป็น 875 บาทต่อห้องต่อคืนในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะลดลง 60% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเหลือเพียงประมาณ 0.2 พันล้านบาทในปี 2563 หลังจากนั้นจะเริ่มดีขึ้นเป็น 0.4 พันล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัวและคาดว่ารายได้จะเติบโตเป็น 0.6 พันล้านบาทในปี 2565

ทริสเรทติ้งมองว่ายอดขายและรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทในปี 2563 จะลดลงจากปีที่แล้ว 50% และ 30% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจากผู้ซื้อภายในประเทศและจำนวนผู้ซื้อต่างชาติที่มีน้อยมาก ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของบริษัท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีเพียง 0.4 พันล้านบาทซึ่งบริษัทมีแผนจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2563 จนถึงปี 2565

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 0.3-0.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และจะเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 1 พันล้านบาทในปี 2565 เมื่อบริษัทเริ่มโอนโครงการคอนโดมิเนียมแนวสูง "เดอะพาโนรา พัทยา" ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรขั้นต้นจากโครงการที่อยู่อาศัยที่ระดับ 28%-31% ในช่วงประมาณการ โดยคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับซื้อที่ดินและก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยจำนวน 0.4-0.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

สินเชื่อเช่าซื้อคาดว่าจะหดตัวลงโดยมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ

ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะลดลงเหลือ 3.2-3.3 พันล้านบาท ณ เวลาสิ้นสุดของแต่ละปีในช่วงปี 2563-2565 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นเกือบ 85% ของสินเชื่อเช่าซื้อรวมของบริษัท ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาวะภัยแล้งในช่วงปี 2562-2563 ทำให้มูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเหลือ 3.7 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 4 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2561

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถรักษาผลตอบแทนจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อที่ประมาณ 28%-29% เอาไว้ได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 28% เอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่รายได้ดอกผลเช่าซื้อจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 0.9-1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 1-1.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2559-2562

คุณภาพสินเชื่อคงค้างของบริษัทอาจแย่ลงอีกในปี 2563 สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพเครดิตของลูกค้า อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วันต่อสินเชื่อรวม) เพิ่มขึ้นเป็น 8%-10% ในช่วงปี 2561 จนถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 จาก 6%-7% ในช่วงปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่า 10% เอาไว้ได้ในช่วงที่มีความยากลำบากนี้ บริษัทมีความเพียงพอในการตั้งสำรองค่อนข้างน้อยที่ประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสำรองดังกล่าวยังเพียงพอเนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทมีสินทรัพย์ค้ำประกัน แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะอ่อนแอลง แต่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับสำรองในปัจจุบันตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 9 ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับที่เพียงพอ หากคุณภาพสินทรัพย์ยังอ่อนแอลงอีก บริษัทอาจจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอนาคต

สัดส่วนหนี้สินต่อทุนค่อนข้างต่ำ

ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4.6-5 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 จากการคาดการณ์ว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะเติบโตช้าและไม่มีการลงทุนใหม่ที่มีนัยสำคัญในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนจะต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2563-2564 และจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.5%-4.5% ในปี 2565

ตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้นั้นกำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ตามงบการเงินรวม) ให้ต่ำกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.97 เท่า ทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ต่อไปได้

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.18 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 1.58 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้น 0.3 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาว 0.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ 0.1 พันล้านบาท วงเงินหมุนเวียนจากธนาคารเพื่อใช้ในการดำเนินงานที่ยังไม่ได้เบิกใช้ 0.3 พันล้านบาท และเงินต้นจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งจะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีจำนวน 1.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีอีกจำนวน 0.5 พันล้านบาทซึ่งสามารถใช้เป็นหลักประกันสำหรับขอวงเงินกู้ใหม่ได้หากจำเป็น

บริษัทยังได้รับความยินยอมจากธนาคารผู้ให้เงินกู้ให้เลื่อนการจ่ายชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในธุรกิจโรงแรมในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 160 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 27 กันยายน 2563 หุ้นกู้จำนวน 770 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 และหุ้นกู้จำนวน 650 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 24 มกราคม 2564 บริษัทวางแผนจะจ่ายชำระหุ้นกู้จำนวน 160 ล้านบาทด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ส่วนหุ้นกู้ที่เหลือนั้นจะใช้วิธีการออกหุ้นกู้ใหม่และกู้เงินจากธนาคารมาไถ่ถอน เนื่องจากความต้องการของนักลงทุนที่ไม่แน่นอนทำให้บริษัทอาจไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระได้ทั้งจำนวน ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนจะขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารล่วงหน้าเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดหาแหล่งเงินทุน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2563-2565 มีดังนี้

รายได้จากการดำเนินงานรวมจะลดลงเหลือประมาณ 2-2.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และจะปรับดีขึ้นเป็น 3 พันล้านบาทในปี 2565

มูลค่าสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างจะอยู่ที่ 3.2-3.3 พันล้านบาท ณ เวลาสิ้นสุดของแต่ละปี

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 8%-10%

ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วงระหว่าง 5.2%-5.9% ในขณะที่ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 28%

เงินลงทุนสำหรับซื้อที่ดินและก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ 0.4-0.5 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญตลอดปี 2563 และยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมของบริษัทและบริษัทย่อยที่จะครบกำหนดชำระในภาวะที่ความต้องการจากนักลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้นมีความไม่แน่นอน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือหากบริษัทไม่สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และไม่มีความกังวลเรื่องการต่ออายุหุ้นกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ