นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 1,967 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 542 ล้านบาท โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 1,885 ล้านบาท และ 518 ล้านบาท ลดลง 35% และ 45% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63
ด้านผลการดำเนินครึ่งปีแรก บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3,245 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 641 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน 3,284 ล้านบาท และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 715 ล้านบาท ลดลง 26% และ 35% ตามลำดับจากปีที่แล้ว
สาเหตุหลักจากการโอนที่ดินเลื่อนจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโรงไฟฟ้า Gheco-One การหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้า SPP 3 แห่ง และค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ของธุรกิจสาธารณูปโภค
แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/63 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติและกำไรสุทธิปกติ เพิ่มขึ้น 35% และ 164% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากธุรกิจที่ดินและการขายอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 107% จากไตรมาส 1/63 และการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโลจิสติกส์
อีกทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงเติบโต โดยบริษัทฯ มีรายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 761 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติมของการใช้พื้นที่เช่าคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ตามการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce และ Consumer ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ในปีนี้เป็นไปตามคาด โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREIT มูลค่ารวมประมาณ 4,600 ล้านบาท ได้ในช่วงไตรมาส 4/63
สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจที่ดินและการขายอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 811 ล้านบาท มีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการโอนที่และขายที่ดินใหม่มีการเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามนั้น คาดว่าปีนี้มียอดขายที่ดินเกินกว่าเป้าหมายที่บริษัทฯ ตั้งไว้
ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ยังคงแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัทอย่างต่อเนื่องจากทิศทางการกระจายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนหลายกลุ่มทั้ง จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ทั้งนิคมอุตสาหกรรมของบริษัททั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ดังนั้นบริษัทคาดว่าภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการออกมาตรการรองรับการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับกลุ่มธุรกิจ (Business Bubble) นั้น จะส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสามารถกลับมาเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปยังช่วงปีหน้าอีกด้วย
ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคมีการชะลอตัวลง ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,015 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าในครึ่งปีหลังยอดจำหน่ายน้ำจะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก จากการกลับมาเริ่มเปิดดำเนินการโครงการใหม่ของลูกค้าที่มีการชะลอในช่วงครึ่งปีแรกจากภาวะภัยแล้ง นอกเหนือจากนั้น บริษัทเร่งการลงทุนในโครงการ Reclaimed Water เพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกำลังการผลิต Reclaimed Water ณ ปัจจุบัน ประมาณ 15% ของความต้องการใช้น้ำของลูกค้าทั้งหมด ทำให้บริษัทฯ เพิ่มความสามารถในการทำกำไรตลอดจนเป็นการสร้างความยั่งยืนในการให้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 496 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มธุรกิจ IPP ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลงจากหลายปัจจัย เช่น อัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ค่าเงินบาทที่แข็งตัวทำให้ได้รับค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลง ทิศทางราคาถ่านหินที่ลดลง และการเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 10% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
แต่ด้วยผลการดำเนินการของโรงไฟฟ้าที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และภาระการชำระคืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ลดลงตามลำดับด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทยังคงได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโครงการดังกล่าวในระดับที่สูงตามคาดการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มธุรกิจ SPP ในไตรมาส 2/63 ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยปริมาณยอดขายไฟฟ้ารวมของไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ประมาณ 2% แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง (จากทั้งหมด 8 แห่ง) มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในครึ่งปีแรก ทำให้ส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มธุรกิจ SPP ในครึ่งปีแรกเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงตามแผนลดลงประมาณ 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลอดจนการทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ Solar Rooftop ในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นจาก 6 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปี 62 เป็น 22 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 39 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 63 นี้ ส่งผลให้ยอดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะระดับ 592 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันธุรกิจดิจิทัล ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจในดิจิทัล แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทได้มีการลงนามในสัญญาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ในการดูแลระบบเน็ตเวิร์ก และให้บริการเช่าพื้นที่วางเครื่องเซิร์ฟเวอร์จำนวน 109 ตู้ ตลอดจนบริษัทได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ในการทดสอบระบบ 5G ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำของประเทศภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ