นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัทจำนวน 600 ล้านหุ้น และหุ้นกรีนชู 60 ล้านหุ้น ที่เสนอขายหุ้นละ 2.60 บาท ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาจองซื้อทั้งหมด ส่งผลให้สามารถระดมเงินทุนเข้าบริษัทได้ 1.56 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะนำเงินมาใช้ขยายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่าง ๆ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและ ชำระคืนเงินกู้ โดยมั่นใจว่าจะรักษาการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 40%
"ปีนี้ ETC จะรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าขยะครบทั้ง 3 แห่ง ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.50 เมกะวัตต์เป็นปีแรก ซึ่งคาดว่าจะสร้างการเติบโตอย่างมีนัย จากปีที่แล้วซึ่งรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเพียง 1 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าขยะ RH และโรงไฟฟ้าขยะ AVA มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น และทำให้บริษัทมีอัตรากำไรต่อเมกะวัตต์ค่อนข้างสูง"นายเอกรินทร์ กล่าว
นายเอกรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการขยายกิจการในอนาคตบริษัทได้ศึกษาและวางแผนที่จะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้
ด้านนายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ผู้จัดการการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ ETC กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดจองหุ้น IPO ของ ETC มีกระแสความสนใจอย่างสูงจากทั้งนักนักลงทุนทุกๆกลุ่ม และ เมื่อเปิดจองในวันที่ 5-11 สิงหาคมที่ผ่านมา หุ้น IPO ของ ETC จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการจองซื้อของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนทั่วไปจะสามารถซื้อหุ้น ETC ในตลาดหลักทรัพย์ mai ตั้งแต่วันอังคารที่ 18 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเข้าซื้อขายวันแรก
สำหรับสาเหตุที่หุ้น ETC ได้รับความสนใจอย่างสูงเนื่องจาก ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะจากบริษัทแม่คือ กลุ่มบมจ.เบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้ง ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดี มีคณะผู้บริหารและทีมงานวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยเป็น บริษัทรับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร รวมถึงบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) ให้มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าขยะสะอาดแบบครบวงจรตัวแรกของตลาดหุ้นไทย ที่มีอนาคตไกลมีผลประกอบการที่ดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 444 เมกะวัตต์