นายเสวก ศรีสุชาต ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปีนี้คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 9 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะได้ราว 8 พันล้านบาท ลดลงจาก 9.5 พันล้านบาทในปีก่อน หลังสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อการก่อสร้าง และส่งมอบงานโครงการเกิดความล่าช้า เพราะมีคนงานบางส่วนต้องเดินทางกลับบ้านทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว
ประกอบกับการปิดน่านฟ้าทำให้บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาควบคุมและดูแลงานได้ นอกจากนี้การขนส่งวัสดุก่อสร้างมีความล่าช้าด้วยเช่นกัน และในช่วงล็อกดาวน์การทำงานก่อสร้างได้มีกฏระเบียบมากขึ้น ทำให้งานที่บริษัททำอยู่ต้องล่าช้าออกไป
ที่ผ่านมาบริษัทได้เจรจากับเจ้าของโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เลื่อนระยะเวลาการส่งมอบงานอกไป จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งได้รับการขยายระยะเวลาการส่งมอบงานออกไปราว 5-6 เดือน ตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากการล็อกดาวน์ ทำให้แรงงานที่กลับบ้านไปบางส่วนยังไม่กลับมาและแรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถเดินทางเข้าได้อย่างสะดวก เพราะต้องกักตัว 14 วัน ส่งผลให้การทำงานอาจจะยังมีความล่าช้าไปบ้าง แต่บริษัทจะเร่งการทำงานให้เสร็จทันตามแผน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการรับรู้รายได้
ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเป็นงานของภาครัฐ 90% และงานของภาคเอกชน 10% โดยจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 8 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ไปจนถึงปี 65 งานส่วนใหญ่มูลค่าราว 6-7 พันล้านบาทจะเลื่อนการรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังพลิกกลับมามีกำไร และมั่นใจว่าทั้งปีนี้จะมีกำไรได้เช่นกัน ขณะที่คาดมีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 3% ในสิ้นปีนี้
บริษัทจะเดินหน้าประมูลงานใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปี 64 โดยยังคงเน้นงานภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีออกมามาก หลังจากเลื่อนการประมูลไปจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีมูลค่างานที่ติดตามอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท และบริษัทคาดหวังจะได้รับงานมากที่สุด แม้ว่าจะเป็นงานที่มีมาร์จิ้นไม่สูงที่ 10-12% จากปกติที่บริษัทคาดหวังการรับงานที่มีมาร์จิ้น 12-15% เนื่องจากการประมูลงานภาครัฐจะต้องแข่งขันด้านราคาต่ำที่สุด แต่บริษัทได้มีการคำนวณต้นทุนต่าง ๆ ไว้แล้ว ทำให้มั่นใจว่างานที่บริษัทจะได้รับมาสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ งานภาครัฐที่บริษัทจะเข้าประมูลเร็ว ๆ นี้ คือ งานก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังที่จะคว้างานมาได้ เพราะบริษัทมีงานก่อสร้างให้กับ AOT อยู่แล้ว 2 งาน ที่สนามบินดอนเมืองในส่วนของอาคารบริการผู้โดยสาร และการเชื่อมจากรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลานจอดรถ 7 ชั้น และยังมองถึงโอกาสในการเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ แม้ว่าจะมีโอกาสได้งานค่อยข้างยากเพราะ TOR คาดว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาที่สูง แต่บริษัทจะพยายามให้มากที่สุด เพื่อมีโอกาสในการได้เข้าร่วมประมูล
ส่วนงานของภาคเอกชนในปัจจุบันน้อยลงไป หลังจากที่โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจเอกชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอการลงทุนโครงการคอนโดมิเนียม โรงแรม อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าใหม่ ทำให้งานภาคเอกชนลดลง และบริษัทก็ยังมีความระมัดระวังการเข้ารับงานของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะบริษัทต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน แต่มองว่าในปี 64 หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงทั่วโลก งานภาคเอกชนจะค่อย ๆ ทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงการของบริษัทรายใหญ่ในไทย ได้แก่ เครือทีซีซี เครือซีพี และเครือดุสิต เป็นต้น
ด้านความคืบหน้าการขายโครงการคอนโดมิเนียม HOLME เอกมัย 22 มูลค่า 650 ล้านบาท ของบริษัท เอส เอฟิวเจอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่ง PLE ถือหุ้น 100% ปัจจุบันการขายยังคงชะลอ เนื่องจากภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามากดดัน ทำให้โครงการดังกล่าวสามารถขายไปได้เพียง 15 ยูนิต ตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 4/62 จากจำนวนยูนิตทั้งหมด 90 ยูนิต ซึ่งบริษัทยังคงเดินหน้าทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายโครงการดังกล่าวให้มียอดขายเพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เพราะยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ามียอดขายเพิ่มเป็น 40-50% ภายในปี 64 ก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 64 หรือต้นปี 65 และบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัยอื่นเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเสี่ยงและมีการแข่งขันที่รุนแรง