ในส่วนของการใช้ข้อมูลภายใน ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะบุคคลวงในเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในอาจจะเป็นผู้กระทำผิดก็ได้ เช่น ผู้รับทราบข้อมูล (Tippe) และไม่ใช่เฉพาะการซื้อขาย คือการเผยแพร่ข้อมูลก็อาจจะเป็นผู้ทำผิดกฎหมายได้ ผู้รู้ข้อมูลจึงไม่ควรจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงแนะนำว่าบุคคลวงในต้องระมัดระวังเมื่อมีการซื้อขาย ซึ่งรวมถึงเครือญาติพี่น้อง รอบข้างทั้งหมด หากมีการซื้อขายแบบมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ผิดปกติ อาจจะถือว่าใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์
องค์ประกอบสำคัญของข้อมูลภายในมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.เป็นสาระสำคัญหรือไม่ กระทบราคาหรือไม่ มีความชัดเจนหรือไม่ การที่มีความชัดเจนมากแค่ไหนก็มีโอกาสที่ข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลภายในมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คาดการรายได้ในปีถัดไปถือว่าไม่ใช้ข้อมูลภายใน แต่หากบอกรายได้ในไตรมาสนี้ หรือไตรมาสถัดไป ถือว่าเข้าข่ายข้อมูลภายในเพราะข้อมูลเกือบชัดเจนแล้ว
และ 2.คือมีการเปิดเผยข้อมูลมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นการเชิญนักวิเคราะห์จากหลายบริษัทเข้ามารับฟัง ยังไม่ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูล เพราะข้อมูลยังไม่ออกไปสู่วงกว้าง
สำหรับการสร้างราคา หรือการปั่นหุ้น โดยการสร้างเรื่องราว เช่น ออกหุ้นเพิ่มทุน PP พยายามผลักดันราคา เมื่อถึงราคาเป้าหมายก็จะมีการเพิ่มปริมาณการซื้อขาย ก่อนที่จะค่อยๆขายทำกำไรออกมา ซึ่งปัจจุบันมีการทำราคาเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 13 นาที 1 ชั่วโมง หรืออาจจะนานกว่านั้นเล็กน้อย แนะนำให้ผู้ลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายเหล่านี้ โดยเฉพาะในหุ้นที่มีขนาดเล็ก ปริมาณการซื้อขายไม่มากนัก และฟรีโฟลท (free float) ต่ำ
ปัจจุบันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ การให้ข่าวอันเป็นเท็จ คาดการณ์ไม่ตรงความเป็นจริง ใช้ข้อมูลภายใน และปั่นหุ้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และกลไกการซื้อขายเป็นสิ่งสำคัญในการซื้อขาย มีการดูแลผ่าน 2 องค์กรหลัก คือ ก.ล.ต. ดูแลในส่วนของกฎหมาย และ ตลท.ดูแลด้านกฎเกณฑ์ สำหรับ ก.ล.ต. ที่ดูแลในด้านของกฎหมายที่สำคัญ คือจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ และไม่คาดการณ์โดยการบิดเบือน รวมไปถึงที่เกี่ยวเนื่องกับการซ้อขายที่ไม่เป็นธรรม คือการใช้ข้อมูลภายใน ซื้อขายตัดหน้าลูกค้า และการสร้างราคา
ด้าน ตลท.จะดูแลในส่วนของการดูแลหลักเกณฑ์บริษัทจดทะเบียน ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบท้วน เพียงพอ ทันการณ์ และเท่าเทียม รวมไปถึงการชี้แจ้งข่าวลือต่างๆ ต่อมาคือการตรวจสอบเกี่ยวกับการส่งคำสั่งที่ไม่เหมาะสม และการสนับสนุนการซื้อขายที่ผิดกฎหมาย "การทำผิดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตลาดฯ เป็นหลัก เพราะด่านหน้าคือตลาดฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดูแลนักลงทุน และความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติและมีการตรวจสอบแล้วจะมีส่งต่อเรื่องมายัง ก.ล.ต. เพื่อที่จะตรวจสอบต่อไป โดยปัจจุบันมีมาตรการการลงโทษใหม่ๆเข้ามา อาทิ ห้ามไม่ให้เข้ามาซื้อขายอีก การเรียกผลประโยชน์ที่ได้รับคืนมา และค่าปรับในอัตราสูง"นายศักรินทร์ กล่าว