นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 63 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 719 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท โดยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) เพิ่มขึ้นจาก 10.7% มาอยู่ที่ 21.2% ขณะที่มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA)อยู่ที่ 223 ล้านบาท จากเป้าหมายปี 63 ที่ 350 ล้านบาท
ส่วนไตรมาส 2/63 บริษัทยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างมากกระทบต่อยอดขายธุรกิจ Trading ชะลอลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกำไรสุทธิของฝั่ง Trading ปรับลดเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายและการให้บริการลดลงมาที่ 352 ล้านบาท แต่บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์รองรับความเสี่ยงจากโควิด-19 ทำให้ Gross Margin ปรับตัวสูงขึ้นจาก 12.4% มาอยู่ที่ 18.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 62
นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากเงินลงทุนในกิจการไบโอดีเซลในไตรมาส 2/63 ยังอยู่ในระดับที่ดีจากอานิสงส์การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐ โดยปรับมาใช้น้ำมันดีเซล B10 จาก B7 และคาดว่าความต้องการน้ำมันดีเซลในครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสสูงขึ้นตามการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจไบโอดีเซลด้วย
ด้านภาพรวมธุรกิจครึ่งหลังของปี 63 บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ "25 ปี ก้าวต่อไปด้วยความยั่งยืน" ซึ่งประกอบไปด้วยแผนขยายการลงทุนทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV เน้นสร้างอัตราการเติบโตในของธุรกิจให้ตอบโจทย์ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Trading ธุรกิจสะอาดและธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน circular economy ในระดับภูมิภาคต่อไป
นอกจากนี้ ยังมองว่าหลังจากโควิด-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบการภาครัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ในครึ่งปีหลังแนวโน้มภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มทยอยฟื้นตัวและกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การบริโภคน้ำมันและพลังงานเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้ UAC ได้อานิสงส์เชิงบวกในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีการเติบโตและรักษาระดับของกำไร (Bottom Line) ใกล้เคียงเป้าหมายเดิม และพยายามรักษา EBITDA ให้เป็นไปตามเป้า
ส่วนการลงทุนในสปป.ลาว นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในเฟสแรก ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการขยะ เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ส่วนเฟส 2 โรงไฟฟ้าขยะขนาด 6 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 64 ขณะที่โครงการอื่นๆ อาทิ โครงการที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และสุโขทัย ยังคงดำเนินการตามปกติ
"ส่วนแผนลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น มองว่าในเบื้องต้นอาจจะมีการล่าช้าจากแผนเดิม เนื่องจาก ต้องรอนโยบานความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมพลังงานของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีการสานต่อนโยบายดังกล่าวอย่างแน่นอน เนื่องจากตามแผนนโยบายภาครัฐบาลนั้น โครงการนี้เป็นการสร้างโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน เพิ่มรายได้ที่มั่นคงในเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมต่อประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านี้บริษัทฯ เตรียมเอกสารพร้อมยื่นเข้าประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนรอบ Quick Win โดยจะเสนอโครงการก๊าซชีวภาพที่ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ขนาด 3 เมกะวัตต์ ให้ทางกระทรวงพลังงานพิจารณา จากเป้าหมายการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งหมด 30 เมกะวัตต์ " นายชัชพล กล่าว