สมาคมทีวีดิจิทัล จี้กสทช.ออกประกาศเรียงช่อง ชี้ประวิงเวลายิ่งสร้างความเสียหาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 14, 2020 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งประชุมเพื่อออกประกาศเรียงช่อง เพราะหากล่าช้าอาจจะต้องฟ้องกสทช.ถ้าสิ่งที่กำลังทำเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรม

นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประกาศเรียงช่องเมื่อปี 2558 คือหัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่องเมื่อปี2558 ย่อมเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่องเมื่อปี 2558 ไม่ว่ารูปแบบใดย่อมเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างมากมายมหาศาล ช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิทัล แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาต ส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิทัลในอนาคต กระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา หรือหากศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้นจะก่อให้เกิดสุญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทันที ลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิมผู้ชมสับสนหาช่องเดิมไม่เจอเป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัลสื่อหลักของชาติ

"ในการรับฟังความคิดเห็น สมาคมฯได้แสดงความคิดเห็นไปและถามพันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.ประธานในที่ประชุมครั้งนั้นว่าจะออกประกาศฯ เมื่อใด ท่านแจ้งว่าประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาบอร์ด กสทช.ฝั่งกิจการโทรทัศน์ได้ประชุม แต่องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากบอร์ดบางส่วนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงไม่สามารถออกประกาศได้ เราคิดว่าคนที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการดีที่สุดน่าจะเข้าใจอุตสาหกรรม แต่กลับเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน...เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ เมื่อต้องประมูลทีวีดิจิทัลด้วยมูลค่ารวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันประชาชนดูทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณเพียงร้อยละ 20 นอกนั้นเป็นอุปกรณ์อื่น ขอเรียกร้องให้กรรมการ กสทช.ต้องเร่งประชุมเพื่อออกประกาศเรียงช่อง เรารู้ว่าการออกประกาศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่ายืนอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการ โดย กสทช.จะออกประกาศก่อนศาลปกครองฯ มีคำวินิจฉัยหรือมีคำวินิจฉัยแล้วก็ได้ ถ้าถึงที่สุดเราอาจจะต้องฟ้อง กสทช.ถ้าสิ่งที่กำลังทำเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรม" นายสุภาพ กล่าว

ด้าน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ฟรีทีวีเป็นบริการสาธารณะ ประชาชนเมื่อต้องการรับข้อมูลข่าวสารจะได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหมายเลขช่องจะกระทบกับการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล เมื่อประชาชนสับสน ลูกค้าสับสน ประชาชนดูทีวีไม่ได้จะกระทบกับเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ