นายศิรัตน์ รัตนไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.วาว แฟคเตอร์ (W) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าผลักดันรายได้ให้เติมโตไปถึงระดับ 300-400 ล้านบาทภายในปี 64 พร้อมพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หลังจากบริษัทขยายธุรกิจอาหารและขนมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีแผนจะซื้อธุรกิจ Domino’s Pizza ที่คาดว่าจะสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทราว 50%
บริษัทคาดว่าขั้นตอนการเข้าซื้อ Domino’s Pizza โดยบริษัท โดมิโน่ เอเชีย แปซิฟิค จะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ หากวันที่ 24 ส.ค.จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแม้ว่าที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) ให้ความเห็นว่าผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการทำรายการดังกล่าวเนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงและมูลค่าการซื้อขายสูงเกินไป แต่บริษัทมองว่าการที่ Domino’s Pizza เปิดให้บริการในประเทศไทยมา 4-5 ปีแล้ว มีสาขา 27 สาขา และบริษัทได้ใช้เวลาศึกษาธุรกิจมากว่า 1 ปี จึงเชื่อมั่นว่าหากบริษัทเข้าไปบริหารจัดการแล้วจะมีผลประกอบการที่เติบโตและประสบความสำเร็จเหมือนกับโมเดลธุรกิจและการขยายสาขาในประเทศอื่นๆ แน่นอน
"Domino’s Pizza เป็นแบรนด์พิซซ่าจานด่วนสัญชาติอเมริกา ที่มีจุดเด่นในการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และการให้บริการที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และเป็นแบรนด์ที่มีความเป็น Neighborhood Restaurant สูงมาก โดย Model ธุรกิจเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ (franchising QSR pizza) ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ของ W จะเป็นการซื้อกิจการร้านพิซซ่าจากเจ้าของเดิมในประเทศไทย และการเข้าทำสัญญาสิทธิการค้าเพื่อให้ได้สิทธิเปิดร้านแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
เรามองว่าด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาจับต้องได้ และการได้รับความร่วมมือจาก DPI ในเรื่อง Know how, เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการ Turn Around ธุรกิจนี้ในหลายๆ ประเทศ จะเป็น Key Factor ที่ทำให้การลงทุนครั้งนี้เข้าใกล้ความสำเร็จได้อย่างไม่ยาก Domino’s Pizza เป็นร้านพิซซ่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา มียอดขาย (Global Retail Sales) สูงถึง 14.3 พันล้านดอลลาร์ ในปี 62 ได้รับ Market Share ของตลาดพิซซ่า QSR ระดับโลกอยู่ที่ 15% และเป็นแฟรนไชส์พิซซ่า อันดับ 1 ของโลก ฉะนั้นเรามั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้ Domino’s Pizza ได้รับความนิยมสูงขึ้นได้อีกหลายเท่าตัวในประเทศไทย และธุรกิจนี้จะเป็นเรือธงของ W ในอนาคต"
สำหรับเงินลงทุนซื้อ Domino’s Pizza จะมาจากการเพิ่มทุนราว 200 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะมาจากการขายธุรกิจเดิมที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจอาหารออกทั้งหมด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้วางมัดจำไปแล้ว 100 ล้านบาท จากมูลค่าซื้อกิจการทั้งหมด 430 ล้านบาท
"แม้ว่า IFA จะไม่เห็นด้วยกับการเข้าซื้อ Domino’s Pizza แต่มองว่าเป็นการประเมินธุรกิจในช่วงที่ยังไม่ได้มีการปรับโครงสร้างต่างๆให้เหมาะสม ซึ่งหากเราได้มาแล้วเราก็จะนำมาปรับโครงสร้างภายในทั้งหมด ทั้งโครงสร้างด้านราคา ด้านสถานที่ตั้งของสาขา และระบบเดลิเวอรี่ รวมถึงการปูพรมขยายสาขาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถปั้น Domino’s Pizza ให้เติบโตมากเหมือนกับ Domino’s Pizza ในต่างประเทศได้" นายศิรัตน์ กล่าว
ส่วนรายได้อีก 50% จะมาจากร้านอาหารแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ ได้แก่ 1. บริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งทำร้านขนมนำเข้าจากญี่ปุ่นแบรนด์ Bake, Zaku Zaku และ Rapl 2.บริษัท อีสเทิร์นควีซีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำร้านชาบู Kagonoya และ 3.บริษัท เครปส์ แอนด์ โค. ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งทำร้าน Crepes and Co. และ Le Boeuf
ปัจจุบันแบรนด์ Bake, Zaku Zaku และ Rapl มีจำนวนแบรนด์ละ 4 สาขา ร้านชาบู Kagonoya ปัจจุบันมี 8 สาขา ซึ่งบริษัทตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 12 สาขาภายในปี 64 ร้าน Crepes and Co. ปัจจุบันมีอยู่ 3 สาขา จะขยายเพิ่มอีก 2-3 สาขา และ Le Boeuf ปัจจุบันมี 1 สาขา เตรียมขยายอีก 3-4 สาขา ซึ่งบริษัทจะเน้นการขยายสาขาในทำเลและค่าเช่าที่เหมาะสม เพื่อที่จะทำให้มีอัตรากำไรที่ดี
"ในปีนี้ยังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างต่างๆของบริษัทให้มีความเหมาะสม ซึ่งก็ยอมรับว่ายังมีผลขาดทุนอยู่ แต่อย่างไรก็ตามภาพชัดๆของบริษัทจะเห็นในปีหน้า ซึ่งเรายืนยันว่าจะกลับมามีกำไรได้อย่างแน่นอน โดยเราคาดว่าอัตรากำไรสุทธิที่เหมาะสมอยู่ที่ 10-20%"นายศิรัตน์ กล่าว
สำหรับร้าน Kagonoya ซึ่งเป็น Authentic Japanese taste ชาบู มีต้นกำเนิดมาจากเมืองโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการที่ได้สิทธิแฟรนไชส์มาก็พยายามรักษาความเป็นต้นตำรับไว้ โดยเน้นเนื้อที่มีคุณภาพดี และใช้มาตรฐานร้านในระดับเดียวกับประเทศต้นกำเนิด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่บ้าง แต่ภายหลังการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น การปรับตัวด้วยการทำบุฟเฟต์แบบดิลิเวอรี่ การนำหลักการบริหารจัดการวัตถุดิบแบบครบวงจร และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ผลปรากฎว่าเราเดินมาถูกทาง เห็นได้จากยอดขายของร้านที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแม้ในภาวะโควิด
ร้าน Crepes&Co เป็นร้านเครปสไตล์ฝรั่งเศส แห่งแรกของกรุงเทพ เปิดบริการในปี 39 และทำ All Day Breakfast ที่แรกในไทย และเป็นร้านอาหารสไตล์เมดิเตอเรเนียนที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ ของไทย และร้าน Le Boeuf ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยหลังสวน เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 58 เป็นร้านสเต็กที่มีจุดขายคือเนื้อสัตว์คุณภาพสูงทั้งเนื้อวัว แซลมอน เนื้อแกะ และจุดขายที่สำคัญคือซอสสูตรพิเศษจากเจนีวา มีประวัติความเป็นมาส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่นมากว่า 75 ปี
"เรามองว่าทั้ง Crepes&Co และ Le Boeuf เป็นแบรนด์ที่มีจุดขายเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์สูงมาก และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น Regional Own Brand ในการเปิดสาขาในต่างประเทศได้ สำหรับในไทยเราอยู่ระหว่างการเปิดสาขาใหม่ของร้าน Crepes&Co อีก 2 สาขา ซึ่งกำหนดการคร่าวๆ น่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยสาขาที่เปิดใหม่จะเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาการทำเมนูอาหารแบบเดลิเวอรี่แต่ความพิถีพิถันยังคงเดิม ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี"
นอกจากนี้ยังมีร้านขนมจากญี่ปุ่นทั้ง Bake, Zaku Zaku และ Rapl จุดขายคือขนมทุกชิ้นเรานำเข้ามาจากญี่ปุ่น จึงมีความพิถีพิถัน และคุณภาพเหมือนประเทศต้นกำเนิด นอกจากนี้เรามองว่าร้านขนมของเราในกลุ่มนี้มี Platform System ที่มีความ Unique สูง ทั้งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก มีระบบการจัดการร้านที่ดี จึงมั่นใจว่าเราสามารถใช้ Platform นี้ในการพัฒนาและต่อยอดร้านขนมสไตล์อื่นๆ ต่อไปได้อีก สำหรับในช่วงโควิด เรามีการปรับกลยุทธ์โดยการปรับราคาสินค้าเพื่อจูงใจผู้บริโภค ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อีกด้วย"