บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) คาดรายได้ในรูปเงินบาทปีนี้อาจเติบโตได้มากกว่า 10% หากค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34.45-34.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่รายได้ในรูปเงินดอลลาร์ยังคงเป้าหมายเติบโตที่ 20% จากปีก่อนที่มียอดขาย 394 ล้านดอลลาร์
แต่กำไรสุทธิยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.2 พันล้านบาทหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท
"ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทพยายามจะหาออเดอร์เพิ่ม เพื่อให้มีวอลุ่มการผลิตสูงกว่าครึ่งปีแรก เพื่อให้ชดเชยกับกำไรที่จะลดลงจากผลกระทบค่าเงินบาท และเราก็มีการขยายกำลังการผลิตไว้รองรับทั้งที่โรงงานในลำพูน อยุธยา กรุงเทพ และเจียซิงในจีน" นายอิศรา ศิวะกุล รองกรรมการผู้จัดการ HANA
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมียอดขาย 3.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเหลือ 802.14 ล้านบาท จากปีก่อนที่มี 1.03 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/50 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของบริษัทที่เติบโตตามธุรกิจ IC และในปีนี้บริษัทเริ่มบุกตลาดไต้หวัน ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้เข้ามาอีกราว 10-20 ล้านดอลลาร์ต่อปี แม้ว่าตลาดไต้หวันจะมีคู่แข่งท้องถิ่นที่ได้เปรียบเรื่องราคา แต่บริษัทก็เห็นช่องว่างในตลาดและเขื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้ โดยบริษัทได้ลงทุนเครื่องจักรมารองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว
"ในไตรมาส 3 เราคิดว่าจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในคอมพิวเตอร์ เชื่อว่าจะมีการเติบโตในระดับสูง แม้ว่า ไตรมาส 4 น่าจะมียอดขายลดลงตามธุรกิจก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ประกอบกับ ค่าเงินบาทหยุดผันผวนและเริ่มนิ่งในระดับ 34 บาท/ดอลลาร์"นายอิศรา กล่าว
ขณะเดียวกัน ธุรกิจในสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของบริษัทถึง 50% แม้ว่าขณะนี้จะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ และกลับส่งผลดีที่บริษัทได้รับคำสั่งการผลิต (Outsouce) จากลูกค้ารายเดิมในเท็กซัส ประมาณ 1 ล้านชิ้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งบริษัทไม่ได้รีบเร่งสรุป เพราะในเบื้องต้นยังให้ราคาต่อชิ้นค่อนข้างต่ำ อาจจะส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้น
บริษัทจึงได้เจรจาลูกค้ารายใหม่ 2 ราย แม้ว่ายอดสั่งซื้อจะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ราคาต่อหน่วยได้รับสูงกว่าลูกค้ารายเดิม และมีอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่า สอดคล้องกับการขยายพื้นที่โรงงานในกรุงเทพที่รองรับออเดอร์จากลูกค้ารายใหม่
นอกจากนี้ บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินบาท เนื่องจากหากทำประกันความเสี่ยงมากกว่านี้จะไม่คุ้มกับต้นทุน
สำหรับโรงงานที่เจียซิง ในจีน หลังจากที่ได้ปิดโรงงานที่เซี่ยงไฮ้มารวมที่เจียซิง บริษัทได้ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 35-40% ของกำลังการผลิตที่มีอยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีจึงจะมีกำลังการผลิตเต็ม โดยคาดว่าภายใน 2-3 ปีนี้โรงงานดังกล่าวจะถึงจุดคุ้มทุน
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--