นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีบีเอส เปิดเผยว่า ได้จัดส่งแผนแม่บทตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (แผนแม่บทฯ) เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ ในโครงการฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามกำหนดเวลาภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
อนึ่ง กลุ่มบีบีเอส ประกอบด้วย BA ถือสัดส่วน 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือสัดส่วน 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือสัดส่วน 20%
แผนแม่บทฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดเชื่อมโยงของโครงการฯ กับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้สนับสนุนการพัฒนาโครงการฯ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน, การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่ทางกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ, การแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน
"การจัดส่งแผนแม่บทฯ นี้ นับเป็นความคืบหน้าสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญต่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค"นายพุฒิพงศ์ กล่าว
ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC กล่าวว่า กลุ่มได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท OPi ซึ่งประกอบด้วย Oriental Consultants Global (OCG), Pacific Consultants (PCKK), IBIS Company Limited (IBIS) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา
สำหรับ Lead Consulting Firm ซึ่งนำโดย OCG และ PCKK นั้นเป็นบริษัทที่ให้การบริการด้านงานวิศวกรรมที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ อันประกอบด้วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ, งานจัดทำแผนแม่บท, งานออกแบบ และงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มงานสนามบินซึ่งเป็นงานที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่ง โดยผลงานสำคัญได้แก่ สนามบินนาริตะ, สนามบินฮาเนดะ, สนามบินคันไซ, สนามบิน Changi รวมถึงงานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประสบการณ์มากกว่า 4,500 โครงการใน 150 ประเทศ
นอกจากนี้ ในกลุ่มบริษัท OPi จะมี IBIS Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูงในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ทางรถไฟ, ระบบขนส่งสาธารณะ และการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และบริษัท To70 (Thailand) Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลกซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย โดยนับเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทางตะวันตก กับแนวทางการทำงานของตะวันออก โดยมีความเป็นไทยผสมอยู่อย่างลงตัว เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย
อนึ่ง ในส่วนของความคืบหน้าอื่นๆ ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในช่วงระยะเวลา 2 เดือนนับจากการลงนามในสัญญา ได้แก่ การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการขออนุมัติเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำการสำรวจ Topographic เพื่อประกอบการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งทาง UTA คาดว่าจะเข้าสำรวจพื้นที่จริงและรับมอบพื้นที่จากทาง EEC ได้ภายในต้นเดือนกันยายน 2563 การเข้าสำรวจพื้นที่ TG MRO - ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินของ บมจ. การบินไทย (THAI) เพื่อเตรียมการรื้อย้ายและเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนา "โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก" ให้เป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation" รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ "มหานครการบินภาคตะวันออก" เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ