นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีบีเอส เปิดเผยว่า ได้จัดส่งแผนแม่บทตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (แผนแม่บทฯ) เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ ในโครงการฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามกำหนดเวลาภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
อนึ่ง กลุ่มบีบีเอส ประกอบด้วย BA ถือสัดส่วน 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือสัดส่วน 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือสัดส่วน 20%
แผนแม่บทฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดเชื่อมโยงของโครงการฯ กับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้สนับสนุนการพัฒนาโครงการฯ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน, การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่ทางกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ, การแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน
"การจัดส่งแผนแม่บทฯ นี้ นับเป็นความคืบหน้าสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญต่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค"นายพุฒิพงศ์ กล่าว
ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC กล่าวว่า กลุ่มบีบีเอสได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท OPi ซึ่งประกอบด้วย Oriental Consultants Global (OCG), Pacific Consultants (PCKK), IBIS Company Limited (IBIS) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา
สำหรับ Lead Consulting Firm ซึ่งนำโดย OCG และ PCKK นั้นเป็นบริษัทที่ให้การบริการด้านงานวิศวกรรมที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ อันประกอบด้วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ, งานจัดทำแผนแม่บท, งานออกแบบ และงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มงานสนามบินซึ่งเป็นงานที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่ง โดยผลงานสำคัญได้แก่ สนามบินนาริตะ, สนามบินฮาเนดะ, สนามบินคันไซ, สนามบิน Changi รวมถึงงานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประสบการณ์มากกว่า 4,500 โครงการใน 150 ประเทศ
นอกจากนี้ ในกลุ่มบริษัท OPi จะมี IBIS Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูงในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ทางรถไฟ, ระบบขนส่งสาธารณะ และการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และบริษัท To70 (Thailand) Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลกซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย โดยนับเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทางตะวันตก กับแนวทางการทำงานของตะวันออก โดยมีความเป็นไทยผสมอยู่อย่างลงตัว เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย
อนึ่ง ในส่วนของความคืบหน้าอื่นๆ ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในช่วงระยะเวลา 2 เดือนนับจากการลงนามในสัญญา ได้แก่ การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการขออนุมัติเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำการสำรวจ Topographic เพื่อประกอบการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งทาง UTA คาดว่าจะเข้าสำรวจพื้นที่จริงและรับมอบพื้นที่จากทาง EEC ได้ภายในต้นเดือน ก.ย.63 การเข้าสำรวจพื้นที่ TG MRO หรือ ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินของ บมจ. การบินไทย (THAI) เพื่อเตรียมการรื้อย้ายและเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนา "โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก" ให้เป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation" รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ "มหานครการบินภาคตะวันออก" เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น และขออนุมัติเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำการสำรวจภูมิประเทศรอบโครงการสนามบินอู่ตะเภา (Topographic) เพื่อนำมาประกอบการออกแบบและประกอบการก่อสร้าง โดยที่ทางกลุ่ม UTA คาดว่าจะเข้าสำรวจพื้นที่จริงและรับมอบพื้นที่จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ภายในต้นเดือนก.ย.63
พร้อมเข้าสำรวจพื้นที่ TG MRO เพื่อออกแบบโครงการ รวมทั้งรอให้กองทัพเรือ (ทร.)ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จัดการประมูลงานก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 5-6 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลในอีก 2-3 เดือน โดยรอการอนุมติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) รอบสุดท้าย ทั้งนี้ จะหารือภายในกลุ่ม UTA ก่อนว่าจะเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างรันเวย์หรือไม่ หากไม่ร่วม ทาง STEC ก็พร้อมเข้าประมูล
ทั้งนี้ UTA คาดว่าจะได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้ในต้นปี 65 ซึ่งการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 3 ปี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 68 มีระยะเวลาดำเนินการตามสัมปทานไปอีก 47 ปี หรือจนถึงปี 2615
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTS กล่าวว่า UTA จะเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกเฟสที่ 1 โดยมีเงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาทสำหรับลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 และอาคารเกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเมืองการบิน ได้แก่ คาร์โก้ , พื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Trade Zone), Gateway City เป็นต้น ซึ่งยังไม่รู้จำนวนเงินลงทุน
ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการอยู่ที่ 1.86 แสนล้านบาททั้งส่วน Aero และ Non Aero แบ่งเป็น 4 เฟส รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ซึ่งจะเปิดดำเนินการเฟสแรกในปี 68 เร็วกว่าโครงการรถไฟเชื่อม 3สนามบิน (สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา-ดอนเมือง) ที่คาดเปิดดำเนินการปี 70 ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยช่วงแรกที่โครงการสนามบินอู่ตะเภาเปิดอาจจะกระทบบ้าง
*BA-BTS เล็งลงทุนเมืองการบินเพิ่มตามถนัด
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กิจการที่เกี่ยวกับเมืองการบิน หรือ Non Aero ในโครงการนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะดึงพันธมิตรนอกกลุ่ม UTA เข้ามาร่วม ซึ่งขณะนี้มีพันธมิตรหลายรายทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเจรจาบ้างแล้ว ขณะที่กลุ่ม BTS ก็ให้ความสนใจเดินรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ภายในสนามบิน , ธุรกิจโรงแรม ซึ่งทางกลุ่มมีความชำนาญอยู่แล้ว
ด้านนายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในระหว่างงานออกแบบโครงการในเฟสแรกจะมีการพูดคุยกันภายในกลุ่ม UTA ว่าจะมีรายละเอียดลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับเมืองการบิน หากรายใดต้องการลงทุนมากกว่าหรือหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนได้ ส่วน BA อาจจะเสนอการลงทุนได้แก่ ธุรกิจบริการภาคพื้นดิน คลังสินค้า ครัวการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ BA มีความถนัดอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า หรือธุรกิจอื่น อาจจะต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน ส่วนธุรกิจดิวตี้ฟรีก็ต้องขอพิจารณาความเป็นไปได้ก่อน
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนการลงทุนในกิจการต่างๆภายในเมืองการบินได้ภายในปลายปีนี้ ขณะเดียวกัน สนามบินนาริตะ ก็จะเข้ามาให้ข้อมูลสนามบินเพื่อนำไปออกแบบโครงการด้วย ซึ่งขณะนี้ยังติดปัญหาการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่ นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภา จะช่วยให้ BA ขยายเครือข่ายเส้นทางการบินมากขึ้น โดยบริษัทมีแผนจะดึงพันธมิตรการบินในลักษณะ Code Share เข้ามาช่วยขยายเครือข่ายการบิน เพื่อทำให้สนามบินอู่ตะเภาขยายตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ธุรกิจการบินจะไม่สามารถดำเนินการในเส้นทางระหว่างประเทศ แต่คาดว่าผู้โดยสารจะกลับมาในปี 65 ทั้งนี้ก่อนออกแบบโครงการจะมีการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารใหม่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ BA ก็สนใจเข้าบริหารอาคารผู้โดยสาร 1-2 ในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 2 ล้านคน คาดว่าจะเจรจากับ ทร.เพื่อเข้าบริหารก่อนที่โครงการนี้จะเปิดดำเนินการ
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน BTS กล่าวว่า ด้านแผนงานทางการเงินในการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แหล่งเงินทุนและสถาบันการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการดังกล่าวคาดว่าจะชัดเจนภายในอีก 18 เดือน เพราะยังต้องรอการออกแบบโครงการให้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ก่อน เพราะปัจจุบันเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นโครงการหลังจากเซ็นสัญญาแล้ว และเตรียมเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อนำมาออกแบบโครงการ ทำให้ไม่สามารถสรุปเงินลงทุนได้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินเป็นอย่างดี ซึ่งทางกลุ่ม UTA ได้มีการเจรจากับสถาบันการเงินหลายแห่งไปบ้างแล้วในเบื้องต้น ซึ่งต่างก็ให้ความสนใจ
ขณะเดียวกันทางกลุ่ม UTA ยังทำแผนงานเพื่อประเมินความเสี่ยงของโครงการในกรณีเกิดผลกระทบแบบวิกฤติโควิด-19 อย่างเช่นในปัจจุบัน เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ในการนำเสนอให้กับสถาบันการเงินประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าหลังจากการออกแบบโครงการและมูลค่าการลงทุนที่ออกมาชัดเจนแล้ว โดยแหล่งเงินทุนจะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ เงินทุนของกลุ่ม UTA, เงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นในกลุ่ม UTA และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
"ทางกลุ่ม UTA ก็ได้คุยกับแบงก์ไปเบื้องต้นแล้ว และก็มองว่าแบงก์หลายแห่งสนใจเข้ามาสนับสนุน แต่ยังต้องรอความชัดเจนของแบบและมูลค่าการลงทุนอีกที น่าจะอีก 18 เดือน สิ่งที่แบงก์สนใจนั้น เพราะแบงก์เองก็ชอบธุรกิจสนามบิน เวลาที่สนามบินเปิดแล้วก็มีรายได้เข้ามาทันที และอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศท่องเที่ยวที่มีนักท่งอเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และการขยายของ EEC ในอนาคต ทำให้แบงก์เองก็เห็นถึงศักยภาพ และเราก็ทำแผนประเมินความเสี่ยงไปคุยในเบื้องต้นด้วย เพราะเราต้องเผื่อไว้ว่าไม่รู้ในอนาคตจะมีอะไรเข้ามากระทบธุรกิจท่องเที่ยวแบบโควิด-19 อีกครั้งหรือเปล่า"นายสุรยุทธ กล่าว