นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนเดินหน้ารุกธุรกิจแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้าอย่างชัดเจนในปี 64 หลังจากที่โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ล่าช้าจากเดิมที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนส.ค.หรือก.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป โดยบริษัทเตรียมผลิตและเริ่มส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 64 ขณะที่จะเดินหน้าทำการตลาดและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ในปีหน้า พร้อมทั้งจะขยายจุดติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับการต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการขยายการเติบโตจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ที่ยังให้มาร์จิ้นที่ดีเข้ามา หลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วทั้งหมด
"ธุรกิจรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่หลังจากโรงงานสร้างเสร็จปลายปีนี้ ปีหน้าเราก็จะเดินหน้ารุกตลาดเต็มที่ เพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจขึ้นไปอีก หลังจากที่โรงไฟฟ้าเรา COD หมดแล้ว ทำให้เราต้องมารุกขยายตลาดใหม่ ๆ ทำให้ธุรกิจเรา sexy มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน หาการต่อยอดใหม่ ๆ ที่ให้มาร์จิ้นที่ดีขึ้น เราก็ยังมองโอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้าอยู่ แต่ก็ยอมรับว่าโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ มาร์จิ้นก็ไม่สูงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทำให้เราก็ยังไม่เร่งรีบมาก และหันมารุกธุรกิจรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เราจะผลักดันอย่างเต็มที่ในปีหน้า"นายอมร กล่าว
นายอมร กล่าวว่า สำหรับแผนงานการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นบริษัทจะเจาะกลุ่มไปที่รถยนต์โดยสารสาธารณะเป็นหลัก ได้แก่ รถแท็กซี่ และรถบัส โดยในกลุ่มรถแท็กซี่ บริษัทได้หารือกับสหกรณ์แท็กซี่ให้เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งทางสหกรณ์แท็กซี่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้อาจจะยังไม่เร่งเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วมากนัก แต่บริษัทจะพยายามผลักดันสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการทยอยเปลี่ยนรถแท็กซี่มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจนมากขึ้นในปี 64
ด้านรถบัสสาธารณะ บริษัทได้นำมาทดลองให้บริการตั้งแต่ปลายปี 62 และจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ในช่วงต้นปี 64 หลังจากที่โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ปัจจุบันมีออร์เดอร์รถบัสเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งหลังจากโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเตรียมเดินเครื่องการผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ โดยคาดว่าในปี 64 จะเห็นรถบัสไฟฟ้าที่เป็นรสบัสโดยสารสาธารณะออกมาใช้จริงเพิ่มมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าและรถบัสในปี 64 ไว้ที่ 3,000 คัน
สำหรับเรือโดยสารไฟฟ้าของบริษัทที่ได้ทดลองเดินเรือทดสอบในวันนี้ (21 ส.ค. 63) คาดว่าจะเห็นการเปิดใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 64 จำนวน 23 ลำ จากปลายปีนี้ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการนำร่องก่อน 8-12 ลำ หลังจากที่ได้รับความร่วมมือจากกรมเจ้าท่า ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยาเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้าทดแทนเรือแบบเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเรือไฟฟ้าของบริษัทมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 800 KWh สามารถวิ่งให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเส้นทาง 23 กิโลเมตร หรือระยะทางต่อการชาร์จ 80-100 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามในเรื่องของอัตราค่าโดยสารบริษัทมั่นใจว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยที่อัตราค่าโดยสารเรือไฟฟ้าจะอยู่ในช่วง 20-30 บาท/เที่ยว ขณะที่เส้นทางการเดินเรือไฟฟ้าของบริษัทอยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทาง และปรึกษากับกรมเจ้าท่า ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีปลายทางไม่ซ้ำกับผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยาที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในเบื้องต้นเป็นเส้นทางเดินเรือไฟฟ้าของบริษัทจะเป็นเส้นทางท่าสาทร- ปทุมธานี โดยที่เรือไฟฟ้าของบริษัทสามารถจอดเทียบท่าได้ทั้งท่าสาธารณะ ท่าของกรมเจ้า หรือท่าเรือใหม่ที่บริษัทเป็นผู้ลงทุน ส่วนเรือไฟฟ้าที่ใช้ในการท่องเที่ยวนั้นจะกลับมารุกตลาดอีกครั้งในปี 64 หากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยกลับมาดีขึ้น
นางสาวออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร EA เปิดเผยว่า กรณีบริษัทและพันธมิตรอีก 3 ราย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลสปป.ลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในลาว และจำหน่ายต่างประเทศ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Saravan Downsteam Hydropower Project และ Phamong Hydropower Project โดยมีอายุศึกษาโครงการราว 2 ปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ราว 3,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์หนึ่งโครงการ และกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ อีกหนึ่งโครงการ ในส่วนเงินลงทุนเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา รวมถึงการจัดสรรสัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละโครงการด้วย