ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี ของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วยเช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และเพื่อขยายธุรกิจ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงแบรนด์และสถานะทางการตลาดของที่อยู่อาศัยของบริษัทที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการมีสินค้าในสัดส่วนที่สมดุล และมูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวนมากภายใต้กิจการร่วมค้ากับ Mitsubishi Estate Co., Ltd. (MEC) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะสร้างส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากให้แก่บริษัทในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความกดดันให้แก่อุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สูงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด 19 แต่รายได้ของบริษัทยังเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนไปอยู่ที่ 1.32 หมื่นล้านบาท การมีสินค้าในสัดส่วนที่สมดุลทำให้บริษัทมีรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 21% มาอยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 86% ของรายได้รวม ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัททรงตัวอยู่ในระดับ 19%-20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 โครงการของบริษัทสร้างยอดขาย (รวมยอดขายจากโครงการภายใต้กิจการร่วมค้า) ที่มูลค่า 1.82 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทริสเรทติ้งมองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด 19 จะยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ บริษัทควรจะต้องมีความระมัดระวังในการบริหารการเปิดโครงการใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน (รวมเงินกู้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วน 51.0%) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 55% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 50%-55% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า
บริษัทมีสภาพคล่องที่ยังคงบริหารจัดการได้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่าบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.32 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 8.6 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 0.1 พันล้านบาทและหุ้นกู้อีกจำนวน 4.5 พันล้านบาท บริษัทมีแผนจะชำระคืนหนี้ส่วนใหญ่ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ ในขณะที่สภาพคล่องของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ประกอบด้วยเงินสดจำนวน 3.7 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 3 พันล้านบาทอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งในกลุ่มสินค้าหลักและจะสามารถปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างสมดุลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปและจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับปัจจุบัน หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 55% เป็นเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรได้โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงอยู่ที่ระดับ 40%-45% ในระยะเวลาหนึ่ง