โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปตท.(PTT) ผลการดำเนินงานหลักช่วงที่เหลือของปี้นี้เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2/63 จากราคาน้ำมันสูงขึ้นตามความต้องการใช้ฟื้นตัว รวมถึงราคาและสเปรดของธุรกิจปิโตรเคมีกระเตื้องขึ้นหนุนธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี รวมถึงราคาปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ดีขึ้น แต่ก็อาจจะถูกหักลบกับสายอะโรเมติกส์ที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติดีขึ้นจากปริมาณขายเพิ่ม และอัตรากำไรดีขึ้นจากต้นทุนก๊าซฯมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาก๊าซฯต่ำยังกดดันต่อผลประกอบการบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ PTT ยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง รองรับศักยภาพการลงทุนขยายธุรกิจใหม่อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจ LNG ต่อยอดฐานธุรกิจเดิม รวมถึงธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งจะรักษาการเติบโตในระยะยาว ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าด้วยการเข้าถือหุ้นเพิ่มใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีมุมมองเป็นบวกสอดคล้องกับการผลักดันให้ GPSC เป็น Flagship ในธุรกิจไฟฟ้า
ส่วนการกระจายหุ้น IPO ของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ยังต้องลุ้นว่าทันปีนี้หรือไม่ หากก.ล.ต.อนุมัติแล้วยังต้องใช้เวลาโรดโชว์และทำ Bookbuilding ประกอบกับราคาน้ำมันยังไม่ดีมากนัก รวมถึงสภาพตลาดยังมีความเสี่ยง อาจทำให้ต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามการนำ OR เข้าตลาดหุ้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับ PTT ราว 3-4 บาท/หุ้น
หุ้น PTT ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 36.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท (+0.68%)
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 38.00 โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 46.00 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 43.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 40.00 คิงส์ฟอร์ด ซื้อ 42.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 42.00 เอเซีย พลัส ซื้อ 41.00 บัวหลวง ซื้อ 50.00
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานของ PTT ในไตรมาส 3/63 เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลังล่าสุดราคาน้ำมันปรับขึ้นมาราว 30% จากไตรมาส 2 หนุนให้ราคาผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และราคาปิโตรเคมีปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาส 2 ที่เผชิญกับการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็อาจจะไม่ดีขึ้นมากนัก หลังค่าการกลั่น (GRM) ไม่ได้ดีขึ้นมาก แต่ในส่วนของกำไรสุทธิน่าจะดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นน่าจะช่วยหนุนให้มีกำไรจากสต็อก จากขาดทุนสต็อกในไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม PTT ยังอาจถูกกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซฯอาจจะไม่ดีมาก เพราะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักนั้น ส่วนใหญ่จะใช้กำลังผลิตไฟฟ้าน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากตามฤดูกาล แต่วอลุ่มในส่วนของภาคอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยได้มากนัก
ขณะที่คาดว่าผลการดำเนินงานของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปรับลดลง หลังได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงสะท้อนราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรงในช่วง 6 เดือนก่อนหน้า แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันจะปรับขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอกับพอร์ตก๊าซฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า
ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินกำไรสุทธิของ PTT ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.05 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ทั้งปี 63 น่าจะมีกำไรสุทธิในช่วง 4-4.5 หมื่นล้านบาท หดตัวลงราว 60% จากปีที่แล้ว ขณะที่คาดว่าจะมีกำไรปกติในปี 63 ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท และเพิ่มเป็นราว 8 หมื่นล้านบาทในปี 64 จากคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันในปี 64 จะขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากคาดการณ์ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ หลังกิจการด้านเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้มากกว่าปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ขณะที่มีมุมมองบวกต่อการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของ PTT โดยการเข้าถือหุ้นใน GPSC เพิ่มขึ้นเป็น 31.72% จากเดิม 22.81% นั้น โดยการเข้าซื้อหุ้น 8.91% จาก บมจ.ไทยออยล์ (TOP) พร้อมกับการโอนกิจการ บริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ จำกัด (TP) ให้กับ TOP โดยการดำเนินการทั้งหมดคาดว่า PTT จะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้นราว 5.9 พันล้านบาท แต่ก็เป็นการดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายที่จะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร GPSC และผลักดันเป็น Flagship ของกลุ่ม
ส่วนการนำหุ้น OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คาดว่าอาจจะเห็นในช่วงต้นปี 64 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมหลังจากที่ภาพเศรษฐกิจกลับมาฟื้นต้ว โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับ PTT อีกราว 3-4 บาท/หุ้น
ด้านบทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจหลักของ PTT ฟื้นตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้หลังจากหดตัวค่อนข้างแรงในครึ่งปีแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมองธุรกิจช่วงครึ่งหลังปีนี้ดีขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ดีขึ้นตามความต้องการใช้ฟื้นตัว และความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในช่วง 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงครึ่งแรกปีนี้ 40.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากนี้ ค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/63 จากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้า และอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติก็ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านราคาปิโตรเคมีในกลุ่มโอเลฟินส์ดีขึ้น จากความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร และสินค้าเวชภัณฑ์ แต่ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ ยังเป็นลบจากความต้องการพาราไซลีน (PX) อ่อนตัวในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ประกอบกับมีกำลังผลิตใหม่จากจีนเข้ามาในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของ PTT ยังแข็งแกร่งจากเงินสดในมือและเงินลงทุนรวมกันมากถึง 3.6 แสนล้านบาท และมีอัตราส่วน Net IBD/E เพียง 0.3 เท่า ทำให้กลุ่ม PTT ยังมีศักยภาพลงทุนขยายธุรกิจใหม่อีกมาก
โดยธุรกิจที่จะมุ่งเน้นคือการขยายพอร์ตธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้ครอบคลุมมากขึ้น และมองหาธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อต่อยอดฐานธุรกิจเดิม รวมถึงการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจใหม่ ๆ เช่น Storage/Grid network, EV, Smart energy platform, Advanced Materials, และ Logistics เป็นต้น
สำหรับธุรกิจเดิม PTT จะมุ่งเน้นเพิ่ม Synergy ระหว่างกันโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นรองรับมาร์จิ้นที่มีแนวโน้มแคบลง
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ได้ปรับประมาณการกำไรของ PTT ในปี 63-64 ลง 18% และ 19% เป็น 5.3 หมื่นล้านบาท และ 6.9 หมื่นล้านบาทตามลำดับ หลังกำไรในครึ่งแรกปีนี้ทำได้เพียง 1.05 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 16% ของประมาณการเดิม หลัก ๆ จากความต้องการก๊าซธรรมชาติและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากาไรครึ่งหลังของปีจะดีกว่าครึ่งแรกอย่างมากทั้งจากความต้องการก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ยอดขายค้าปลีกน้ำมันและมาร์จิ้นฟื้นตัว รวมถึงน่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันเข้ามาด้วย
ขณะที่ยังมีปัจจัยหนุนราคาหุ้นจากการประกาศจ่ายปันผลงวดครึ่งปีแรก และประเด็นบวกช่วงท้ายปีจากการทำ IPO ของ OR
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ขยายตัวคาดว่าจะช่วยหนุนราคาหุ้น PTT ต่อไปในอนาคต รวมทั้งการลงทุนใหม่ในอนาคตจะหนุนการเติบโตของกำไรในระยะยาว ขณะที่การนำหุ้น OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะปลดล็อกมูลค่าของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดยมูลค่าหุ้น PTT ยังอยู่ในระดับน่าสนใจ ซื้อขายที่ PBV ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 1.2 เท่า (ค่าเฉลี่ยระยะยาวอยู่ที่ 1.6 เท่า) นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในปี 64 จะอยู่ที่ 5.3% เทียบกับ 3.3% สำหรับตลาดหุ้น
ทั้งนี้ PTT มีแผนการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตในระยะยาว โดยจะขยายธุรกิจ LNG ในต่างประเทศ และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ LNG ต้นน้ำทั่วโลก รวมถึงยังจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าสูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิตและลดการลงทุนที่มากเกินความจำเป็น อีกทั้งจะเร่งลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ โครงข่ายไฟฟ้า EV และแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ รวมถึงมองหาโอกาสเติบโตสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย โดยการลงทุนใหม่จะช่วยหนุนการเติบโตของกำไรในระยะยาว
ขณะที่สถานะการเงินของ PTT มีความแข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่เพียง 0.3 เท่า พร้อมกับเงินสดในมือ 3.55 แสนล้านบาท น่าจะทำให้สามารถลงทุนในโครงการใหม่ได้โดยไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ขณะที่ยังคงจ่ายเงินปันผลที่ดีได้ โดยคาดว่าจะจ่ายปันผลต่อ/หุ้นสำหรับปี 63 อย่างน้อย 2 บาท ทรงตัวจากปีที่แล้ว แม้ว่ากำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) จะลดลงก็ตาม