นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า FTSE Global ประกาศผลการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE Global Index มีผลวันที่ 18 กันยายน 2563 นี้เป็นต้นไป JMT ถูกคัดเลือกเข้าร่วมคำนวณดัชนี FTSE SET Small Cap Index สะท้อนเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้วยมาตรฐานการคำนวณดัชนีในระดับสากล โดย JMT เป็นผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันรายใหญ่ของประเทศ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ล่าสุดงวดไตรมาส 2/63 โชว์กำไรสุทธิทำสถิติกำไรรายไตรมาสสูงที่สุดของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แม้ในปีนี้ทั่วโลกต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ชูจุดเด่น JMT เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีเป็นโอกาสซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม ได้อานิสงส์ในแง่การเติบโตของพอร์ตหนี้ที่มีคุณภาพ และจะกลับมาสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดี โดยปัจจุบัน มีพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพรวมประมาณ 189,156 ล้านบาท
มุมมองปีนี้แม้ได้รับปัจจัยภายนอกมากระทบ จากความไม่แน่นอนของภาพรวมเศรฐกิจ แต่ JMT ก็ยังคงความสามารถในการบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งแนวโน้มการประมูลซื้อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และยอดการจัดเก็บ (Cash Collection) เตรียมทำสถิติใหม่ๆ สร้างความสนใจให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ด้านนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ติดโผหลักทรัพย์เข้าใหม่ที่เข้าร่วมคำนวณดัชนี FTSE SET Micro Cap Index มองมีส่วนสำคัญในการให้น้ำหนักการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบัน กองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนความสำเร็จในการปรับโครงสร้างองค์กร ให้เข้าสู่ระบบที่มีมาตรฐาน และการอนุมัติสินเชื่อจากส่วนกลาง ทำให้ในปีนี้ SINGER ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ในไตรมาส 2/63 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี และแนวโน้มจะดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
อีกทั้ง SINGER เป็นบริษัทที่มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี แต่สามารถปรับโมเดลธุรกิจนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีจุดเด่นในรูปแบบการขายตรงผ่านตัวแทนขายซิงเกอร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ราว 2,000 ราย และมีสาขาแฟรนไชส์ราว 1,500 แห่ง ครอบคลุม 579 อำเภอ ทำให้ไม่กระทบสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงไปถึงระดับรากหญ้า
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 63 บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,657 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) ร้อยละ 53.6 และพอร์ตสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อ รถทำเงิน (C4C) ร้อยละ 46.4 คาดครึ่งปีหลังภาพรวมการเติบโตจะยังดีต่อเนื่อง ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้วางไว้แตะ 5,800 ล้านบาท รับปัจจัยบวกหลังจัดทัพองค์กรสำเร็จ ซึ่งจะสนับสนุนให้ SINGER พุ่งทะยานต่อ ด้วยเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน