นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เปิดเผยว่า บริษัทยื่นประมูลและอยู่ระหว่างรอยื่นประมูลงานใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมมูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท บริษัทคาดหวังว่าจะได้งานราว 25% ของมูลค่าดังกล่าว หรือประมาณ 800 ล้านบาท
ณ สิ้นไตรมาส 2/63 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ราว 4,709.45 ล้านบาท แบ่งเป็นงานให้บริการโครงข่ายวงจรสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (Data Services) มี Backlog เหลืออยู่ 3,299 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นงานโครงการเน็ตชายขอบ (USO) เฟส 1-2 ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 4-5 ปี ส่วนที่เหลือเป็นงาน Data Center จำนวน 245.67 ล้านบาท และงานติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม มี 1,164.65 ล้านบาท
บริษัทคาดว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยจะรับรู้รายได้จากโครงการเน็ตชายขอบ (USO) เฟส 2 และเน็ตพื้นที่ห่างไกลจะเพิ่มมากขึ้นตามการทยอยส่งมอบพื้นที่ และยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 20% มาที่ 2.4 พันล้านบาท มาจากงาน Data Services ที่ 1,296 ล้านบาท และงานติดตั้งฯที่ตั้งเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) คาดว่างาน Data Services จะอยู่ที่มากกว่า 40% งานติดตั้งฯอย่างน้อย 20% และ ดาต้าเซ็นเตอร์ มากกว่า 45%
จากการรับรู้รายได้ทั้งในปีนี้และปีหน้า จะเห็นว่าในส่วนธุรกิจ Data Services ในครึ่งปีหลังน่าจะรับรู้รายได้ราว 563 ล้านบาท ไม่รวมงานใหม่ที่จะคาดว่าจะได้ในช่วงที่เหลือของปี และปีหน้าจะรับรู้รายได้ราว 953 ล้านบาท ส่วนงานติดตั้งฯ รอทยอยรับรู้ในครึ่งปีหลัง 566 ล้านบาท ไม่นับรวมงานใหม่ที่คาดว่าจะได้เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง
"ทั้งหมดเราจะพูดถึงงานที่เรามี Backlog ที่อยู่ในมือที่ทยอยรับรู้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นและวางแผนได้ว่าในอนาคตจะมีส่วนไหนเพิ่มเข้ามา จะเพิ่มส่วนไหนมากส่วนไหนน้อย อย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้" นายณัฐนัย กล่าว
นอกจากนี้ นายณัฐนัย มองว่า โครงการเน็ตชายขอบ (USO) จะฐานรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว เพราะว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำสัญญาระยะยาว 5 ปี และยังจัดหาอินเตอร์เน็ตให้กับคนในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่รายได้จากการให้บริการพื้นที่ศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) คาดว่าจะทำรายได้ 80-100 ล้านบาทต่อไตรมาส โดยมีลูกค้าธนาคารเอกชน และธนาคารภาครัฐ เป็นลูกค้าหลัก ซึ่งลูกค้าธนาคารทหารไทย กำลังหมดสัญญาในปีนี้ และคาดว่าจะมีการสัญญาในปลายปีนี้ นอกจากนี้ จากที่การให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ไม่เพียงพอ บริษัทจึงได้จับมือร่วมมือกับ บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) (SIS) และบมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย (INET) และบมจ.ซีเอสล็อกอินโฟ (CSL) ในการให้บริการคลาวด์ด้วย
ส่วนการให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม (Installation) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะผันผวนตามงานที่ส่งมอบ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าจะหางานใหม่ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% ขึ้นไป โดยยังมีงานในมือเหลืออยู่ 1,164.65 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกมีงานซ่อมบำรุงให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ภาคใต้ และล่าสุด งานติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงของ กฟภ. มูลค่า 333.7 ล้านบาท โดยเชื่อว่าตลาดยังเปิดกว้างและมีอนาคตอยู่มาก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังจะรับหลักทรัพย์ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 2 (ITEL-W2) โดยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายวันแรก 27 ส.ค.63
ITEL-W2 มีจำนวนหน่วเสนอขายไม่เกิน 250,000,000 หน่วย อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกและเสนอขาย (ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.63-19 ส.ค.64) อัตราการใช้สิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ 1 หุ้น ราคาใช้สิทธิ 3 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาการใช้สิทธิวันทำการสุดท้ายของเดือน ก.ย.63, ธ.ค.63, มี.ค.64 และมิ.ย.64 ของอายุใบสำคัญแสดงสิทธิโดยวันสุดท้ายของการใช้สิทธิจะตรงกับวันที่ใบสำคัญแสดงสิทธิ ITEL-W2 มีอายุครบ 1 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ
บริษัทจัดสรร ITEL-W2 ให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญต่อใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ 1 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่า โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในวันที่ 24 ก.ค.63 เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นและสะท้อนความเชื่อมั่นของบริษัทที่สามารถต่อยอดการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง มุ่งหวังขยายธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนสร้างโครงข่ายที่แข็งแกร่ง