นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่ารายได้จะกลับมาเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หลังจากเริ่มเห็นแนวโน้มผู้ป่วยกลับมาเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยประกันตน จากช่วงครึ่งปีแรกจำนวนผู้ป่วยชะลอตัวลงจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา
หลังจากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมากว่า 2 เดือน ทำให้คนเริ่มคลายความกังวลการเข้ามารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาล และเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เลื่อนนัดการรักษามาจากช่วงไตรมาส 2/63 ทำให้จำนวนผู้ป่วยไตรมาส 3/63 เพิ่มชึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น ปกติแล้วไตรมาส 3 ของทุกปีถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาล เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่จะมีโรคเจ็บป่วยประจำฤดูกาล จึงมีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเข้ามารักษาบ้างแต่ไม่มากเท่ากับภาวะปกติ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างและการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิดก็ทำให้การติดต่อโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ มีน้อยลงด้วย แต่คาดว่าจะมีการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง ทางเดินอาหาร และการรักษาบาดแผลเข้ามาทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีนัดกับแพทย์ไว้แล้ว
นอกจากนี้ BCH ยังมีรายได้ที่เข้ามาเสริมจากการร่วมกับพันธมิตรโรงแรมที่ให้บริการสถานกักตัว 14 วัน (State quarantine) ให้กับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันให้บริการไปแล้ว 7 โรงแรม และทยอยเปิดให้บริการเพิ่มอีก 5 โรงแรม ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังมีจำนวนห้องรวม 1,522 ห้อง ใน 12 โรงแรม ผลักดันให้บริษัทมีรายได้จากการให้บริการดูแลและตรวจโควิด-19 เฉลี่ย 15,000-16,500 บาท/เคส
ประกอบกับ แนวโน้มของผู้ป่วยประกันสังคมจะกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้คาดว่ารายได้ของกลุ่มผู้ป่วยประกันสังคมจะเพิ่มขึ้นราว 8-12% โดยปัจจุบันบริษัทมีผู้ป่วยประกันสังคมทั้งหมด 887,000 ราย และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านรายภายในปี 64
อย่างไรก็ตามในปี 63 บริษัทยอมรับว่าการเติบโตของรายได้จะไม่เป็นไปตามที่วางเป้าหมายช่วงต้นปีที่จะเติบโตราว 10% จากปีก่อน เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยในครึ่งปีแรกชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ดังนั้น รายได้ในครึ่งปีแรกจึงเติบโตได้เล็กน้อบแค่เกือบ 1% บริษัทจึงปรับลดเป้าหมายรายได้ปี 63 ลดลงเหลือเติบโต 4-6% สอดคล้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และบริษัทยังคงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานยังออกมาดี
ด้านการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะใช้งบลงทุนอีก 650 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ขนาด 115 เคียงในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในไตรมาส 4/63 พร้อมกับก่อสร้างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ สปป.ลาว ขนาด 110 เตียงให้แล้วเสร็จทันกำหนดเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 1/64
ทั้งนี้ ในปี 63 บริษัทใช้เงินลงทุนรวมราว 1 พันล้านบาทเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ทั้ง 2 แห่งนี้
สำหรับการลงทุนใหม่ในระยะต่อไปหลังจากทั้ง 2 โรงแรมใหม่เปิดให้บริการแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมที่สามารถช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้มากขึ้น ทั้งการลงทุนในรูปแบบซื้อกิจการ และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งเป็นเป็นเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนการลงทุนขยายโรงพยาบาลในต่างประเทศก็ยังคงมองโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม โดยเน้นการขยายตลาดใน CLMV เป็นหลัก
"แนวทางการลงทุนใหม่ๆจะต้องรอภาวะต่างๆ Recovery กลับมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นปี 64 เราถึงกลับมาพิจารณาการลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่มเติม ตอนนี้ต้องรอโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงอย่างชัดเจน 100% และภาวะเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งมองโอกาสการลงทุนทั้งการซื้อกิจการ และรุปแบบการลงทุนเองเกี่ยวกับสุขภาพ"นายเฉลิม กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนสร้างโรงพยาบาลมะเร็งขนาดเล็ก 1 แห่ง คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปี 64 เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยที่ค่อนข้างท้าทาย คือ การหาบุคคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางเข้ามาร่วมทำงานค่อนข้างหายาก และการลงทุนเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านบาท ทำให้บริษัทจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนให้มั่นใจอย่างดีก่อน