บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) คาดได้ข้อสรุปเจรจาลูกค้ารายใหม่ที่เป็นโรงงานผู้ผลิต 3 รายใหญ่จากต่างประเทศก่อนสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าหากได้รับออเดอร์เพิ่มจากทั้ง 3 รายจะทำให้รายได้ของบริษัทในปีหน้าแตะระดับ 6 พันล้านบาท จากในปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 4-5 พันล้านบาท หรือเติบโต 40% จากปีก่อน ขณะที่เตรียมเซ็น MOU กับ SANTECH จากญี่ปุ่นใน ต.ค.นี้เพื่อร่วมมือในการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์
ทั้งนี้ บริษัทอาจจะพิจารณาใช้แนวทางการเพิ่มทุนในช่วงต้นปีหน้าเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ แต่สำหรับการลงทุนในช่วงนี้ยังมีวงเงินที่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้
นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร SNC เปิดเผยว่า ผู้ผลิตแอร์บ้านให้กับ OEM รายใหญ่ 3 ราย คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลี ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาในเดือนก.ย.นี้ และหากได้ออเดอร์ OEM ดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเพิ่มทุนในปีหน้าถึงแม้การเซ็นสัญญาจะจบภายในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทได้เงินกู้มาจากธนาคาร 600 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการลงทุนกับ OEM ในการซื้อเครื่องจักร โดยเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 200 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อเครื่องจักรรองรับลูกค้า OEM ส่วนอีก 400 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
"ตอนนี้เรารอบทสรุปของการเซ็นสัญญาของลูกค้า OEM ถ้าได้จะทำให้เราเติบโต ส่วนเงินที่กู้ 600 ล้านบาท หากทาง OEM ตกลงเราก็จะเริ่มใช้เงินกู้ได้ในไตรมาส 4 แต่การที่ลูกค้า OEM เป็นรายใหญ่อาจจะทำให้เม็ดเงินไม่พอ ทำให้เราจะต้องหาเงินเพิ่มโดยการเพิ่มทุน อีกอย่างตอนนี้ DE เราสูงถึง 3 เท่า คงทำให้เราไม่สามารถกู้เงินได้อีก" นายสมชัย กล่าว
ในเรื่องการเพิ่มทุนที่ผ่านมาได้มีการปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงิน โดยแนะนำว่าให้ใช้เม็ดเงินจากวงเงินกู้ไปก่อนแล้วค่อยเพิ่มทุน แต่บริษัทได้บอก FA ไปว่า ถ้าจะต้องเพิ่มทุนจะต้องไม่ทำให้หุ้นไดลูท
นอกจากนี้ ในเดือนต.ค.จะมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบ. SANTECH ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เพิ่ม know-how ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทั้งแม่พิมพ์อีกด้วย
สำหรับแผนการนำบริษัทลูก คือ บริษัท เอสเอ็นซี ไพยองซาน ซึ่งประกอบธุรกิจแอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น ที่ปรึกษาฯแนะนำให้ชะลอไปก่อนจนกว่าบริษัทแม่คือ SNC จะมีธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ก่อน อีกทั้งปัจจุบัน SNC ถือหุ้น 100%
นายสมชัย กล่าวถึง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าว่า ถึงแม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบแต่ในทางกลับกันก็มีการสั่งซื้อเครื่องจักรด้วยทำให้ชดเชยกันไป และพยายามถือเงินดอลลาร์มากกว่าจ่ายออกไป ขณะที่การขายให้กับยุโรปก็จะขายเป็นเงินยูโรเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพยายามลดต้นทุนทั้งการผลิตและการสั่งซื้อวัตถุดิบ ซึ่งก็จะทำให้ Gross profit margin ปรับตัวดีขึ้น
นายสมชัยกล่าวว่า ได้มีการขยายโรงงานไปที่สมุทรปราการเพื่อรองรับออเดอร์จากลูกค้าโดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือนก.ย.จากเดิมที่โรงงานอยู่ที่ระยอง สาเหตุที่ขยายโรงงานมาที่สมุทรปราการเนื่องจากมีลูกค้าอยู่บริเวณสมุทรปราการจำนวนมาก ตรงนี้ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งได้
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--