EGCO คาดกำไรดำเนินงานปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนแม้ H1/63 หดตัว, เล็งยื่นขอ Shipper LNG

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 26, 2020 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานปี 63 จะทำได้ใกล้เคียงระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 62 แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะxiy[ลดลงราว 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 4.8 พันล้านบาท เป็นผลจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบางส่วน และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของบริษัท รวมถึงปริมาณน้ำที่น้อยส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว ทำให้มีผลขาดทุน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวขึ้นจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่คาดว่าจะกลับมามีกำไรจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แม้จะยังมีซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพาจูในเกาหลีใต้ 1 ยูนิต และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ในไทย อีกเล็กน้อย ขณะที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 2 โครงการในไตรมาส 4/63 ได้แก่ โรงไฟฟ้ากังดง ในเกาหลีใต้ 19.8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมหยุนหลิน ในไต้หวัน เฟส 1 จำนวน 320 เมกะวัตต์

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน โดยในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบให้โรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ของบริษัทได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่น้อยลงทำให้มีการเรียกการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าวน้อยลงด้วย

นอกจากนี้ ยังจะรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา (SBPL) ในฟิลิปปินส์ และโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ได้เต็มปี หลังจากทั้งสองโครงการเพิ่งเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ขณะที่ยังคงเป้าหมายระยะยาวที่จะผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม ตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโตเฉลี่ยปีละ 6%

"เป้าหมายเราคือสร้างการเติบโตต่อเนื่องให้กับ EGCO จุดแข็งของ EGCO คือมีศักยภาพเยอะที่จะเติบโตในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ที่จะเพิ่มเติมเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะขยายการลงทุน เพื่อให้เติบโตต่อเนื่องแข่งขันได้กับสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไฟฟ้า เติบโตไม่แพ้คนอื่น...สาเหตุที่เราไม่ได้พูดถึงการเติบโตในรูปเปอร์เซนต์ เพราะลักษณะการเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจไฟฟ้าในวันนี้การแข่งขันสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ เราไม่ได้ทำในด้าน power generation และไม่ได้อยู่ในประเทศไทยอย่างเดียวแล้ว การเติบโตต้องมองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเทียบเคียงหรือดีกว่าในอัตราเฉลี่ยในห้วงเวลาต่าง ๆ เศรษฐกิจดีตัวเลขเหล่านี้ต้องสูงตาม ถ้าเศรษฐกิจแย่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำตัวเลขสูง ๆ ที่สำคัญเราต้องแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมเราเอง"นายเทพรัตน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนของบริษัทในระยะถัดไป มุ่งขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้า ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงให้ความสนใจลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐด้วย โดยช่วงที่ผ่านมาได้เจรจากับวิสาหกิจชุมชนไว้แล้วในหลายพื้นที่ คงรอเพียงนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐต่อไป

ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงและระบบสาธารณูปโภค หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาได้เริ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิง ด้วยการเข้าถือหุ้น 44.6% ในบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ซึ่งทำธุรกิจบริการขนส่งน้ำมัน และเริ่มมองโอกาสขยายไปสู่ห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Value Chain เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

ทั้งนี้ EGCO เตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดหวังจะนำเข้า LNG เพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัท ในปริมาณราว 2 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติส่วนที่เกินจากสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่มีอยู่กับบมจ.ปตท. (PTT) โดยในส่วนนี้ก็จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงทำให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจ Smart Energy Solution ในฐานะผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมพลังงานอย่างครบวงจร เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองให้เป็น Smart Industrial Estate บนเนื้อที่ 600 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 63 และเปิดดำเนินการได้ภายในปี 65 เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการพัฒนาโครงการโซลาร์ในรูปแบบ Solar Solution Provider ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ เป็นต้น

ส่วนธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียที่ถือหุ้นอยู่ 40% นั้น ปัจจุบันแม้ผลการดำเนินงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แม้ธุรกิจถ่านหินภาพรวมยังมีทิศทางไม่ดีนัก โดยโครงการก็มีการดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของช่องทางการขนส่งและการขาย อย่างไรก็ตามก็มีผู้สนใจที่เข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อเหมืองถ่านหินดังกล่าวหลายราย ซึ่งทางบริษัทก็พร้อมที่จะขายหากได้รับผลตอบแทนที่ดี

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในมือ ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 9 พันล้านบาทจะใช้ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งในส่วนนี้มีเงินลงทุนอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ขณะที่ปัจจุบันมีเงินสดในมือในประเทศ 4 พันล้านบาท และในต่างประเทศ ราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบัน EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 28 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 5,475 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 331 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้ากังดง เริ่มเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 4/63 ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 ในลาว เดินเครื่องผลิตในไตรมาส 2/65 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม หยุนหลิน เดินเครื่องผลิตในไตรมาส 4/63 และไตรมาส 3/64

ขณะที่ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งเป็นการต่ออายุสัญญาของโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน ในจ.ระยอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP Replacement โดยโรงไฟฟ้าเดิมมีขนาด 120 เมกะวัตต์จะหมดอายุ และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนจะมีกำลังผลิตราว 80-90 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ EIA คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 65 กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 67


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ