บมจ. ชินแซทเทลไลท์ (SATTEL) คาดว่า Q3/50 กำไรก่อนดอกเบี้ยเสียภาษี (EBIDA) จะสูงกว่าไตรมาส 2/50 ที่มี 672 ล้านบาทและจะสูงกว่าไตรมาส 3/49 ซึ่งมาจากยอดขายของอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม iPSTAR(UT) โดยเฉพาะในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมียอดขายดีและมีแนวโน้มเติบโตดี รวมทั้งมั่นใจว่าทั้งปี 50 จะพลิกมามีกำไรสุทธิได้แม้ว่าในไตรมาส 2/50 จะมีผลขาดทุน 83 ล้านบาท แต่ถือว่าไม่มาก
ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้ จะมียอดขาย UT สูงกว่า 2.1 หมื่นชุดในช่วงครึ่งปีแรก และดาวเทียม iPSTAR จะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 12 ประเทศ จาก 7 ประเทศในครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในอินเดียคาดว่าจะติดตั้งเกตเวย์แล้วเสร็จในไตรมาส 3/50 และทำตลาดได้ในช่วงไตรมาส 4/50
"เรามี Hidden Asset หลายตัวทางธุรกิจโทรศัพท์มือถือในลาว และเขมร และยังมีซีเอส ล็อกอินโฟ(CSL)เป็น cash cow ของบริษัท โดยมี EBITDA 500-600 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะมีการจ่ายเงินปันผลกลับมาที่บริษัทแม่ ดังนั้นอนาคตของบริษัทไม่น่าเป็นห่วงเลย" นายธนฑิต เจริญจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการเงินและบัญชี บมจ.SATTEL กล่าว
นายธนฑิต กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ธุรกิจดาวเทียมจะไปได้ดี ขณะที่ต้นทุนของบริษัทลดลงเนื่องจากบริษัทได้นำเงินจากการขายหุ้นเชนนิงตัน อินเวสเม้นท์ส พีทีอี จำกัด(SHEN) ในสัดส่วน 49% ได้จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำไปชำระคืนเงินกู้ 141 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงเหลือประมาณ 250 ล้านบาท/ปี จากก่อนหน้าที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 726 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ ค่าเสื่อมราคาของดาวเทียม iPSTAR เป็นต้นทุนที่คงที่ ฉะนั้น แนวโน้มครึ่งปีหลังบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 3 จะมีกำไรสุทธิสูงขึ้นมาก เนื่องจากมีกำไรจากการขายเงินลงทุน SHEN ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทเหลือหนี้สินอยู่ประมาณ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนจะเริ่มทยอยจ่ายคืนเงินต้นในปีหน้า
**iPSTARจะคุ้มทุนในปี 52
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ผู้อำนวยการสำนักการตลาด iPSTAR คาดว่า ดาวเทียม iPSTAR จะถึงจุดคุ้มทุนในปี 52 ตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ขึ้นกับการขยายตลาด iPSTAR
ดาวเทียม iPSTAR มีเม็ดเงินลงทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
นายปฐมภพ คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมียอดขาย UT จะมากกว่าครึ่งปีแรกที่ขายได้ 2.1 หมื่นชุด หรือทั้งหมดขายได้แล้ว 8.6 หมื่นชุด เชื่อว่าครึ่งปีหลังยอดขาย UT จะทะลุ 1 แสนชุด โดยขณะนี้มีออเดอร์ค้างอยู่ที่ทีโอที 1.7 หมื่นชุด และยังมีความต้องการจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ส่วนที่จีนคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะขาย UT ได้เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขายได้เพียง 200 กว่าชุด เนื่องจากอยู่ในช่วงจัดหาช่องทางการจำหน่ายรวมทั้งหาพาร์ตเนอร์มาช่วยในการจำหน่าย
นอกจากนี้ในครึ่งปีหลังจะมีผู้ใช้บริการ iPSTAR เพิ่มขึ้นเป็น 12 ประเทศ จาก 7 ประเทศ โดย 5 ประเทศที่เพิ่มขึ้น คือ อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดเซีย โดยในอินเดียขณะนี้มียอดขายเข้ามาแล้วกว่า 1 พันชุด ส่วนเกาหลีและญี่ปุ่นคาดว่าจะติดตั้งเกตเวย์ได้เสร็จในไตรมาส 4 ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาและคาดว่าจะจบได้เร็วๆ นี้และสามารถติดตั้งเกตเวย์ภายในปีนี้
"ในช่วงแรกๆ ยอดขาย UT จะดีขึ้นทุกๆ ไตรมาส เพราะเราอยู่ในช่วงขยายตลาด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะขายหมด ถึงตรงนั้นตลาดจะทรงตัว และหลังจากนั้นจะมีรายได้จาก bandwidth" นายปฐมภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ยอดผู้ใช้บริการดาวเทียม iPSTAR ยังต่ำกว่า 10% ของ capacity
ส่วนกรณีของ บมจ.ทีโอที ที่นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) ระงับการจัดซื้อ UT งวดใหม่จาก SATTEL นั้น นายปฐมภพ กล่าวว่า ถึงแม้ในช่วงนี้ทีโอทีจะขาย UT ไม่ได้ แต่ยังมีรายอื่น เช่น CSL และ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น(SAMART) และบริษัท อคิวเม้นท์(บริษัทลูกจัสมิน) เป็นผู้ขาย UT ให้กับผู้ใช้บริการได้
ขณะที่ทีโอทียังคงเป็นผู้ให้บริการ Bandwidth ของดาวเทียม iPSTAR รายเดียวในประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้ถูกระงับไปและยังสามารถให้บริการได้ ซึ่งปีนี้บริษัทได้รับเงินค่า Bandwidth จากทีโอทีจำนวน 475 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทีโอที ทำสัญญาเป็นผู้ให้บริการกับบริษัท 7 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 ปี โดยทีโอทีให้บริการ Bandwidth อยู่ประมาณ 3% ของ capacity
"เราไมได้เน้นขาย UT เพราะมีมาร์จิ้นต่ำ เพียงแต่เป็นห่วงว่าผู้ใช้ปลายทางหลายราย เช่น อบต.จะไม่ได้รับการบริการ จริงๆ เราสนใจค่า Bandwidth มากกว่า ซึ่งทีโอทีทำตลาดในประเทศได้ดี คิดว่าดีมานด์ในประเทศไม่น่าจะมีปัญหา" นายปฐมภพ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/นิศารัตน์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--