นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บีซีพีจี (BCPG) คาดว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตกว่าเท่าตัวเป็นกว่า 7 พันล้านบาทถึง 8 พันล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมี EBITDA 3.5 พันล้านบาท เป็นผลจากการที่บริษัทเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งงบลงทุนกว่า 4.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปี (ปี 64-68) ซึ่งจะมาจากการเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท เงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท และเงินสดจากการดำเนินงาน 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทได้ออกหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้จำนวน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีแผนใช้แงินลงทุนประมาณ 6,650 ล้านบาทในโครงการที่มีอยู่แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่
1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจำนวน 4 โครงการ ตั้งอยู่ในจ.กาญจนบุรี จ.ลพบุรี และจ.ปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวม 20 เมกะวัตต์ เป็นการเข้าซื้อโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วที่จะได้รับส่วนเพิ่มจากราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 8 บาท/หน่วย โดยจะใข้เงินลงทุน 1,210 ล้านบาท
2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวแล้ว รวมถึงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 66 โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนถือหุ้น 45% จำนวน 3,570 ล้านบาท เป็นการลงทุนรวมงานก่อสร้างสายส่ง คาดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 15-20% ระหว่างนี้บริษัทกำลังเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนามคาดว่าจะสรุปและลงนามในสัญญาได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ ควบคู่ไปกับการคัดเลือกผู้รับเหมาด้วย
และ 3.การขำระหนี้เงินกู้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B รวมกำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว และการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลวัตต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทั้ง 2 แห่งไปยังประเทศเวียดนาม
ส่วนเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 3,700 ล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อหลายโครงการที่ COD แล้ว ตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าโครงการเหล่านี้จะให้ IRR ไม่ต่ำกว่า 10% หรือราว 370 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายโครงการยอมให้ส่วนลดประมาณ 10-20% เพื่อหวังนำเงินไปใช้ ทำให้เห็นว่าในวิกฤติก็มีโอกาส
นายบัณฑิต ยังกล่าวว่า ในส่วนผลกระทบด้าน dilution จากการเพิ่มทุนของบริษัท เชื่อว่ากระทบเพียงระยะสั้นแน่นอน เพราะในปี 64 คาดว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) จะเติบโตตามโครงการที่ขยายไปมากขึ้น และจากการรับรู้กำไรในโครงการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ , โครงการพลังงานน้ำ Nam San 3Aและ Nam San 3B ในสปป.ลาว จะมีน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านพ้นภาวะแล้งก็จะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น , ค่าไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลมในฟิลิปปินส์ได้ปรับเพิ่มขึ้น 15-20% และโครงการใหม่ที่จะเข้าซื้อภายใต้ วงเงิน 3.7 พันล้านบาทคาดจะมีกำไรราว 370 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40%ของกำไรสุทธิ
"ถ้าเพิ่มทุนแล้ว EPS (กำไรต่อหุ้น) เติบโตขึ้นก็ไม่ต้องกล้ว dilution เราเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ แต่ที่กลัวเพราะมีบางบริษัทเพิ่มทุนไปอุดปัญหาเก่า ไม่ได้สร้าง growth ใหม่ ...ของเราสั้น ว้าว (wow) ยาว ดี" นายบัณฑิต กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG กล่าวอีกว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้นอกจากจะขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว ได้แบ่งขายให้กับนักลงทุนในวงจำกัด 2 รายแรก ได้แก่ กล่ม PP1 คือ Pilgrim Partners Asia (Pte.) Ltd. และ Capital Asia Investments Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 391.5 ล้านหุ้น แม้ว่าจะเป็นกองทุนแต่มั่นใจในการลงทุนระยะยาวกับ BCPG
ส่วนกลุ่ม PP2 ที่จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน ไม่เกิน 283 ล้านหุ้นนั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partner) จำนวน 2-3 ราย ที่มีทั้งเป็นรายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable) หรือธุรกิจไฟฟ้า หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าจะปิดดีลและคัดเลือกเหลือ 1 ราย ได้ไม่เกินกลางปี 64
ทั้งนี้ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถือหุ้นใหญ่ 70% ในปัจจุบันได้ยืนยันจะถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 51-52% หลังการเพิ่มทุน โดยหากสามารถเจรจาได้กับพันธมิตรธุรกิจหรือ PP2 ได้ สัดส่วนการถือหุ้นของ BCP จะลดลงมาที่ 51-52% แต่หากไม่มี PP2 ก็จะมีสัดส่วนถือหุ้นของ BCP อยู่ที่ 56%